Anisometropia ปัญหาใต้พรหม ที่อาจไม่ได้รับการแก้ไข
 


สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน หลังจากที่ขิงหายไปสักพักจากการอัพเดทบทความ เพราะมีกิจธุระที่ค่อนข้างยุ่ง วันนี้กลับมาแล้วในเดือนแรกของปี 2025 อาจจะช้าไปสักนิดแต่ขอโอกาสนี้ในการสวัสดีปีใหม่ทุกๆท่าน เดือนแรกของปี 2025 อากาศค่อนข้างดี มีลมเย็น อุณภูมิลดลงให้เราได้หยิบเสื้อกันหนาวที่แขวนอยู่ในตู้หลังจากไม่ได้ใช้งานกันอยู่หลายปีกลับมาใช้อีกครั้ง เป็นบรรยากาศของความสุขที่ได้รับตั้งแต่ลืมตาตื่นมาในตอนเช้า ขอให้ปี 2025 นี้เป็นปีที่ดีของทุกท่าน มีสุขภาพกายและใจที่สมบูรณ์และแข็งแรง

 

                                                                   



เอาหล่ะ ถึงเวลามาเข้าเรื่องกัน …..

คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า ตาเราทั้ง 2 ข้าง จำเป็นที่จะต้องมีค่าสายตาที่เท่ากันเสมอ พอได้รับการตรวจแล้วพบว่ามีค่าสายตาที่ต่างกันก็จะตกใจบ้าง กลัวบ้าง แต่จริงๆแล้ว น้อยคนมากที่ค่าสายตาของตาทั้งสองข้างจะมีค่าเท่ากัน
ดังนั้นการที่ตาสองข้างของเรามีค่าสายตาที่ไม่เท่ากันนั้น ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ามันต่างกันมากเกินไป ก็อาจจะกลายเป็นไม่ปกติไปได้

 


 

Anisometropia คือ ภาวะที่ดวงตาทั้งสองข้างมีค่าสายตาที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก มีการหักเหแสงในตาทั้งสองข้างไม่เท่ากัน ภาพที่เกิดขึ้นบริเวณจอรับภาพก็จะมีความคมชัดที่ไม่เท่ากันด้วย ในตาข้างที่มีปัญหาน้อยภาพบริเวณจอตาก็จะมีความคมชัดกว่าตาข้างที่มีปัญหามากกว่า



• อาการของ Anisometropia
ผู้ที่มีภาวะ Anisometropia ที่ไม่เคยใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์เพื่อแก้ไข อาจไม่มีอาการแสดงออกที่ชัดเจนหรือไม่มีอาการเลย เช่น

 

ตัวอย่างที่ 1


ตาขวา : มีค่าสายตายาว Hyperopia +0.50 Diopter
ตาซ้าย : มีค่าสายตาสั้น Myopia -3.00 Diopter

ในกรณีนี้ ถ้าคนไข้ยังเป็นวัยรุ่นหรือยัง ไม่มีปัญหาสายตายาวตามวัย Presbyopia ตาข้างขวาจะสามารถมองเห็นได้ทั้งที่ระยะไกลและใกล้ ในขณะที่ตาซ้าย จะมองที่ระยะไกลไม่ชัดแต่จะสามารถมองชัดในระยะใกล้ได้ ส่งผลให้คนไข้ไม่รู้ตัวว่ามีปัญหา และเมื่อคนไข้เข้าสู่วัยสายตายาวตามอายุ หรือ Presbyopia ก็จะไม่มีอาการใดๆเพราะดวงตาทั้งสองข้างจะมีการทำงานแบบ Monovision โดยตาหนึ่งใช้สำหรับมองไกลและอีกข้างใช้สำหรับมองใกล้
ซึ่งเหมือนจะเป็นเรื่องดี ที่รู้สึกว่าไม่ต้องใส่แว่นก็มองได้ทั้งไกลและใกล้ แต่สิ่งที่เสียไปก็คือ ความสมดุลในการมองเห็นในแต่ละระยะจะใช้ดวงตาเพียงข้างเดียวในการมอง การรับรู้ระยะที่ผิดพลาดไป ระบบการเพ่งและการทำงานของกล้ามเนื้อตาทำงานผิดเพี้ยนไป

 


ตัวอย่างที่ 2

ตาขวา : มีค่าสายตายาว Hyperopia +0.50 Diopter
ตาซ้าย : มีค่าสายตายาว Hyperopia +3.00 Diopter

ในกรณีนี้ หากคนไข้ยังไม่มีภาวะ Presbyopia คนไข้จะใช้ตาขวา ในการมองเห็นได้ทั้งระยะไกลและใกล้ ส่วนในตาซ้ายต้องใช้แรงในการเพ่งหรือ Accomoodation มากในทุกระยะ คนไข้จึงมองไม่ชัดทั้งในระยะใกล้และไกล ส่งผลให้สมองอาจมีการตัดภาพที่ไม่ชัดออก ทำให้ตาข้างซ้ายนี้ไม่ได้ถูกใช้งาน หากไม่ได้รับการแก้ไขในช่วง 5-6 ปีแรกอาจเกิดภาวะ Amblyopia หรือ ภาวะตาขี้เกียจได้

                                                                 

โดยปกติแล้ว เมื่อมีสิ่งกระตุ้นการเพ่ง หรือ Accommodation การตอบสนองของการเพ่งจะเท่ากันในตาทั้งสองข้าง ดังนั้นหากมีภาวะ Anisometropia แล้วไม่ได้รับการแก้ไข จะทำให้ภาพที่เกิดขึ้นบริเวณจอรับภาพมีความชัดเจนไม่เท่ากัน ดังนั้นเพื่อให้คนไข้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน คนไข้ควรได้รับการแก้ไขปัญหาสายตาในตาทั้ง 2 ข้างอย่างสมบูรณ์



ซึ่งในการจ่ายแว่นให้กับคนไข้ที่มีปัญหา Anisometropia ก็จะมีเรื่องที่น่ากังวลหลักๆอยู่ 2 เรื่อง นั่นก็คือ
1. Differential Prismatic Effects ผลกระทบเชิงปริซึมที่ต่างกัน
2.การเกิด Aniseikonia หรือการมองเห็นภาพที่มีขนาดต่างกันของตาทั้ง 2 ข้าง


จึงต้องอาศัยการเลือกโครงสร้างเลนส์ให้เหมาะสม และการพูดคุย อธิบายให้กับคนไข้ได้เข้าใจ ถึงสิ่งที่คนไข้จะได้รับเมื่อรับแว่นไปในช่วงแรก ซึ่งความ Sensitive และการเรียนรู้ของสมองของคนเราก็จะมีไม่เท่ากัน บางคนใช้เวลาในการปรับตัวไม่กี่วัน แต่บางคนอาจต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ในการปรับตัวกับภาพภาพใหม่ที่มองผ่านแว่น

จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของการจัดสายตาหรือ Drop ค่าสายตาลงให้พอๆกันทั้ง 2 ข้าง โดยให้เหตุผลว่าถ้าแก้ไขตามค่าจริงจะใส่ไม่ได้ ใส่ยาก ซึ่งเป็นการคิดไปเองแทนคนไข้เสียเแล้วแทนที่จะอธิบายว่า ทำไม หรือ มีเหตุผลอะไรที่ควรจะพยายามปรับตัวกับการใช้งานของค่าสายตานี้ ผลในระยะยาวที่คนไข้จะได้รับเป็นอย่างไร ค่อยๆสื่อสารให้คนไข้ได้เข้าใจถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นคงจะเป็นการแก้ปัญหาที่ดีกว่า
เมื่อมีการ Drop ค่าสายตาลง ในอนาคตคนไข้จะรู้สึกว่าแว่นตัวนี้เริ่มมองไม่ชัด แล้วก็ต้องกลับมาตัดใหม่อีกไปเรื่อยๆจนกว่าจะแก้ไขได้ตรงกับค่าสายตาที่คนไข้มีจริงๆ

 

                                                                   



• Differential Prismatic Effects ผลกระทบเชิงปริซึมที่ต่างกัน และ การเกิด Aniseikonia หรือการมองเห็นภาพที่มีขนาดต่างกันของตาทั้ง 2 ข้าง คืออะไร ?

1. Differential Prismatic Effects ผลกระทบเชิงปริซึมที่ต่างกัน
เมื่อมีการแก้ไข Anisometropia ด้วยเลนส์แว่นตา โดย Optical center หรือจุดกึ่งกลางของเลนส์จะถูกวางตรงกับจุดศูนย์กลางของรูม่านตา ซึ่ง Prism Effect จะเกิดขึ้นเมื่อดวงตาของเรามองผ่านตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่จุดศูนย์กลางเลนส์
( สามารถอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Prism effect ได้ที่ http://http://voradaoptometry.com/faq/detail/12 )

ตัวอย่างเช่น 

คนไข้ที่มีค่าสายตา 2 ข้าง เป็นสายตาสั้นทั้งคู่ และมีค่าสายตาที่ต่างกัน
หากมีการเคลื่อนไหวดวงตาไปทางขวาแบบ Conjugate หรือตาสองข้างเคลื่อนไหวพร้อมกันไปในทิศทางเดียวกัน
จะเกิดปริซึมแบบ Base Out ในตาข้างขวา ( Prism Base Out จะมีผลทำให้ภาพที่มองผ่านเลนส์เบี่ยงเบนเข้าด้านในมากขึ้น )
และจะเกิดปริซึม Base In ในตาข้างซ้าย ( Prism Base In จะมีผลทำให้ภาพที่มองผ่านเลนส์เบี่ยงเบนออกด้านนอกมากขึ้น ) เมื่อค่าสายตาไม่เท่ากัน กำลังเลนส์ที่ใส่ใน 2 ตาไม่เท่ากัน


ตามหลักของ Prentice’s Rule
Prism Power = Lens Power * Decentration(cm.)
หมายถึง ปริมาณปริซึมที่ต้องเจอ = กำลังเลนส์สายตา * ตำแหน่งที่เปลี่ยนไปจากจุดCenterของเลนส์


จึงทำให้ตาทั้งสองข้างเจอกับปริมาณปริซึมที่ไม่เท่ากัน ซึ่งจะทำให้ภาพในแต่ละตามีตำแหน่งที่ต่างกัน ( Prism Imbalance ) เป็นผลให้การเคลื่อนไหวร่วมกันของลูกตาทั้งสองข้าง Vergence เสียสมดุล ตาต้องมีการใช้แรงชดเชยที่มากขึ้นเพื่อรวมภาพให้เป็นภาพๆเดียว เป็นสาเหตุของอาการปวดศีรษะและความเมื่อยล้าของดวงตา

เช่นเดียวกับคนที่มีสายตายาว ( Hyperopia ) ที่ต่างกันในตาทั้งสองข้าง
เมื่อตามีการเคลื่อนไหวไปทางขวาแบบ Conjugate
ตาข้างขวาจะทำให้เกิด Prism Base In และตาข้างซ้ายจะเกิด Prism Base Out ในปริมาณที่ต่างกัน

 

                                                          


2. การเกิด Aniseikonia หรือการมองเห็นภาพที่มีขนาด รูปร่าง หรือทั้งสองอย่าง ต่างกันในตาทั้ง 2 ข้าง

อาการที่พบบ่อยจากสาเหตุ Aniseikonia เมื่อคนไข้ใช้เลนส์แว่นตา ได้แก่
Asthenopia : ปวดตา แสบตา คันตา ล้าตา หรือภาพซ้อน รวมถึงอาการรู้สึกว่าพื้นเอียงหรือผิดรูปไปจากความเป็นจริง

ซึ่ง สาเหตุของ Aniseikonia เกิดขึ้นมาจาก 2 สาเหตุนั่นคือ Anatomical และ Optical lens

• Anatomical เกิดจากความหนาแน่นของ Photoreceptors หรือ cell รับแสงบริเวณ Retinaหรือจอประสาทตาของทั้ง 2 ตาต่างกัน หรือมีความผิดปกติที่การส่งสัญญาณภาพไปยังสมองที่บริเวณ visual cortex

• Optical lens เกิดจาก เมื่อแก้ไขด้วยเลนส์แว่นตาตาทั้ง 2 ข้าง มีกำลังขยายที่ต่างกัน Retinal image หรือภาพที่ไปตกบริเวณจอประสาทตามีขนาดที่เล็กกว่าหรือใหญ่กว่าตาอีกข้างหนึ่ง ทำให้ขนาดของภาพในตาทั้ง2ข้าง มีขนาดใหญ่ไม่เท่ากัน

ดังนั้น การจ่ายแว่นให้กับคนไข้ที่มีปัญหา Anisometropia จึงต้องอาศัยความร่วมมือของคนไข้อย่างมากในการปรับตัวกับค่าสายตาที่ต่างกัน ในช่วงแรก และต้องเลือกโครงสร้างเลนส์ที่เหมาะสมและรองรับปัญหาที่คนไข้มีอยู่เพื่อแก้ไขปัญหาสายตาคนไข้ได้อย่างถูกต้องและใช้งานได้ในระยะยาวอีกด้วย

 

                                                                 


ตัวอย่างเคส

คนไข้หญิง อายุ 27 ปี

วันที่มาตรวจตั้งใจมาเช็คค่าสายตาดูเฉยๆว่าเปลี่ยนแปลงจากเดิมหรือไม่ รู้สึกว่าค่าสายตาตัวเองน่าจะเปลี่ยน เวลาใส่แว่นปิดตาทีละข้างรู้สึกว่าตาข้างขวาชัดกว่าตาซ้าย เวลามองสองตาก็รู้สึกปกติไม่ได้มีปัญหาอะไร

ตรวจตาครั้งล่าสุดเมื่อประมาณเดือน กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว
ใส่แว่นครั้งแรกประมาณ 5 ปีที่แล้ว แว่นตัวปัจจุบันทางร้านมีการลดค่าสายตาลงเพราะกลัวจะใส่ไม่ได้เพราะค่าสายตาไม่เท่ากัน แว่นใช้งานได้ชัดเจนมาตลอดเริ่มรู้สึกไม่ชัดในช่วงหลัง

มีประวัติเคยใส่คอนแทคเลนส์แบบรายวัน ไม่เคยติดเชื้อหรือมีปัญหาใดๆ

ใช้คอมพิวเตอร์ประมาณ 3 ชั่วโมงต่อวัน ใช้แบบต่อเนื่องประมาณ 2 ชั่วโมง
ใช้โทรศัพท์มือถือแบบต่อเนื่องประมาณ 4 ชั่วโมงต่อวัน

สุขภาพร่างกายแข็ง ไม่มีโรคประจำตัว

ค่าสายตาแว่นเดิม
OD (ตาขวา) : -1.50 VA 20/20
OS (ตาซ้าย) : -1.75 VA 20/100+2

VA ตาเปล่า ( ความสามารถในการมองเห็นด้วยตาเปล่า คนปกติอยู่ที่ 20/20 )
OD (ตาขวา) : 20/135+2
OS (ตาซ้าย) : 20/200
OU (สองตา) : 20/135+2

• ขั้นตอนการตรวจกล้ามเนื้อตา
Cover test ( ตรวจดูความผิดปกติตาเขตาเหล่ซ่อนเร้น ) : Orthophoria ตาปกติไม่มีปัญหากล้ามเนื้อตา
Associate phoria : 0

• ขั้นตอนการตรวจหาค่าสายตา
Retinoscope ( หาค่าสายตาโดยดู reflect ที่สะท้อนออกมาจากดวงตาคนไข้)
OD : -1.25 VA 20/15
OS : -3.00 VA 20/15

Monocular Subjective ( หาค่าสายตาโดยการถามตอบจากคนไข้ทีละตา )
OD : -1.25 VA 20/15
OS : -3.00 VA 20/15

Best Visual Acuity ( หาค่าสายตาสุดท้าย และ Balance Accommodation ของทั้งสองตาโดยการถามตอบจากคนไข้ )
OD : -1.25 VA 20/15
OS : -2.75 VA 20/15


Confirm hand-held Refraction บน Trial frame ( รีเช็คค่าสายตาจากการดู Reflec ของแสงที่สะท้อนจากตาของคนไข้ และ รีเช็คค่าสายตาเอียงเมื่อเลนส์อยู่ในตำแหน่งที่คล้ายกับตำแหน่งใช้งานอยู่บนหน้าแว่นจริง )
OD : -1.25 VA 20/15
OS : -3.00 VA 20/15


• ขั้นตอนการตรวจการเพ่งของเลนส์ตา
NRA ( ความสามารถในการคลายการเพ่งของเลนส์ตา ) : +1.25
PRA ( ความสามารถในการเพ่งของเลนส์ตา ) : -4.75
BCC ( ค่า Addition ที่คนไข้ต้องการช่วยในการเพ่งให้เห็นชัดที่ระยะ 40 cm. ) : 0



วิเคราะห์ปัญหา
• ในระยะไกลคนไข้มีปัญหาสายตาสั้นในตาทั้งสองข้าง
ตาขวา : สายตาสั้น -1.25 Diopter
ตาซ้าย : สายตาสั้น -3.00 Diopter

•  เมื่อดูผลจากค่า BCC = 0 ในระยะใกล้คนไข้ไม่มีปัญหาในการเพ่งที่ระยะ 40 ซม. ซึ่งเป็นค่าปกติเมื่อเทียบกับอายุ
•  มีค่า NRA หรือความสามารถที่คนไข้เพ่งได้เองแล้วคลายการเพ่งออกมา = +1.25 Diopter ซึ่งอาจจะน้อยกว่าปกติเมื่อเทียบกับอายุ คาดว่าเกิดจากระบบการเพ่งทำงานผิดเพี้ยนไปจากการแก้ไข Anisometropia ไม่หมดมาเป็นเวลานาน และสามารถเพ่งได้อีก -4.75 Diopter เมื่อดูจากค่า PRA ซึ่งถือว่ายังมีความสามารถในการเพ่งได้ดีอยู่

 


#สรุปผล
 
เมื่อตรวจเสร็จเรียบร้อย พบว่าคนไข้มีภาวะ Anisometropia หรือค่าสายตาที่ต่างกันค่อนข้างมากของตาทั้งสองข้าง เมื่อแก้ไขค่าสายตาให้ถูกต้องเรียบร้อยแล้วคนไข้มีความสามารถในการมองเห็นได้ดีถึง 20/15
สาเหตุที่คนไข้ไม่ได้รู้สึกมีปัญหาในการมองเห็น เป็นเพราะในตาข้างขวาแว่นเดิมที่คนไข้ใส่สามารถใช้งานได้เป็นอย่างดีทั้งในระยะไกลและระยะใกล้ ส่วนในตาข้างซ้ายแว่นเดิมช่วยแก้ปัญหาที่คนไข้มีอยู่ไปส่วนหนึ่ง คนไข้จึงสามารถมองเห็นชัดได้ในระยะใกล้ถึงแม้ระยะไกลจะไม่ชัดก็ตาม เมื่อใช้งานทั้งสองตาพร้อมกันจึงไม่รู้สึกว่ามีปัญหาการมองเห็นอะไร

เมื่อปิดตาทีละข้างคนไข้จะรู้สึกว่าตาขวาชัดกว่าตาซ้าย เพราะในตาข้างซ้ายยังคงมีค่าสายตาที่เหลืออยู่และไม่ได้แก้ไข

 


วิธีแก้ไขปัญหา

• จ่ายแว่น full correction เพื่อแก้ไขปัญหาสายตา และลดการกระตุ้น Accommodationหรือการเพ่งของคนไข้ เพื่อทำให้ระบบการเพ่งของเลนส์ตากลับมาทำงานได้ปกติมากขึ้น

โดยแจ้งกับคนไข้และอธิบายสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากใส่แว่นค่าสายตานี้แล้วว่า จะใส่ยากในช่วงแรก ต้องอาศัยความร่วมมือของคนไข้ในการพยายามใส่อย่างต่อเนื่องให้สมองได้เรียนรู้ถึงภาพใหม่ที่มีการแก้ไขอย่างถูกต้องแล้วสักพัก หลังจากปรับตัวได้ก็จะสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ



ค่าสายตาที่จ่ายแว่น

OD : -1.25
OS : -3.00


แก้ไขปัญหาโดย
Rodenstock Perfalit Single Vision index 1.60
กรอบแว่นตาคนไข้นำมาเอง

 

  

                                                                      

 

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านและผู้สนใจทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไป เพื่อนในวิชาชีพ และเพื่อนร่วมวิชาชีพที่ได้แวะเข้ามาอ่าน ขอขอบคุณทุกท่านที่คอยติดตามและให้การสนับสนุนในการเขียนบทความดีๆอย่างนี้ตลอดมา หากมี Case Study และเรื่องราวที่น่าสนใจและมีประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่านขิงจะมาเขียนแบ่งปันให้ทุกท่านได้ติดตามอ่านกันต่อไปนะคะ  

Content by : Worada Saraburin , O.D.

Ref : Textbook Clinical Management of Binocular Vision

        Textbook  Primary Care Optometry

 



ให้บริการทุกวันพฤหัสบดี - วันอังคาร เวลา 09.30 - 18.00น. *หยุดทุกวันพุธ

นัดหมายเพื่อเข้ารับบริการ 065-9499550

ใช้เวลาในการตรวจ 1 - 2 ชั่วโมง
สำหรับคนที่สนใจทำแว่นทางร้านเราใช้เวลาในการส่งฝนและประกอบเลนส์เข้ากรอบประมาณ 10 - 14 วันนะคะ

ร้านตั้งอยู่ที่
อาคารหมายเลข 89/45 ม.3​ ต.บางกรูด​ อ.บ้านโพธิ์​ จ.ฉะเชิงเทรา​


https://maps.app.goo.gl/VUB5EgTVntLPyGKZ9?g_st=ic
อยู่ติดกับถนนเส้น บางปะกง - ฉะเชิงเทรา
ฝั่งตรงข้าม เมกาโฮม ฉะเชิงเทรา
ใกล้กับร้าน ขนมเปี๊ยะ ซาลาเปา อึ๊งมุ่ยเส็ง สาขาบ้านโพธิ์

สามารถจอดรถบริเวณหน้าร้านได้เลยค่ะ