Progression of Astigmatism in adult การเพิ่มขึ้นของสายตาเอียงในวัยผู้ใหญ่

 


สวัสดีผู้ติดตามทุกๆท่าน หลังจากที่หายไปนานเพราะช่วงนี้มีภารกิจให้ต้องปฏิบัติค่อนข้างเยอะ วันนี้เป็นวันดีที่ได้มีเวลานั่งตกตะกอนเรื่องราวที่ผ่านมาในช่วงนี้ นึกถึงคำถามหนึ่ง ที่คนไข้ อายุ 38 ปี ถามหลังจากที่ได้รับการตรวจและอธิบายรายละเอียดเคสของตัวเองเรียบร้อยแล้วว่า “ สายตาเอียง มีโอกาสเพิ่มขึ้นได้อีกมากแค่ไหน “  วันนี้เลยอยากเอาคำตอบของคำถามที่น่าสนใจนี้มาแชร์ให้กับทุกๆท่านได้ฟัง (อ่าน) กัน 


ขอเริ่มเกริ่นนำจาก สายตาเอียง หรือ Astigmatism เกิดจากความโค้งของ Media ในตาเราที่มีผลต่อการหักเหของแสง คือ กระจกตา  และเลนส์แก้วตามีความโค้งในแต่ละแกนไม่เท่ากัน  มีผลทำให้เมือแสงผ่านเข้าไปจึงมีกำลังหักเหที่ไม่เท่ากันในแต่ละแกน  

เราสามารถแบ่งประเภทของ Astigmatism หรือ สายตาเอียง ตามทิศทางแนวความโค้งของกระจกตาหรือเลนส์แก้วตา ว่าทิศทางใดโค้งมากที่สุดและน้อยที่สุด 

โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท นั่นคือ

 

 With the Rule Astigmatism ( WTR )
สายตาเอียงแบบ With the Rule  ตำแหน่งของกระจกตาหรือเลนส์แก้วตามีความโค้งมากที่สุดจะอยู่ในแนวตั้ง หรือ Vertical meridian 
Meridian อยู่ ใกล้ 90 องศา 
ซึ่งหมายความว่า กระจกตาจะโค้งมากในแนวตั้ง และโค้งน้อยกว่าในแนวนอน ถ้ายกตัวอย่างให้เห็นภาพแบบเข้าใจได้ง่ายๆก็คือ การมองลูกลักบี้  ที่ถูกวางอยู่ในตำแหน่งแนวนอน นั่นเอง

ถ้าคิดเป็น Axis ก็จะอยู่ที่องศา 180 ( อยู่ในช่วง 150-180 องศา ) 

การเกิด With the rule มักพบได้บ่อยในคนทั่วไปหรือบางกรณีก็อาจจะเกิดจากการที่หนังตาบนกดกระจกตาเมื่อกระพริบตาทำให้ความโค้งในแนวตั้งมีมาก

#Note

Meridian ไม่เท่ากับ Axis 


Meridian = ทิศทางของแนวแกนต่างๆที่ใช้อธิบายความโค้งที่ไม่สม่ำเสมอของกระจกตาหรือเลนส์ตา เป็นเส้นที่ลากผ่านจุดศูนย์กลางของดวงตาในแนวต่างๆคล้ายกับเส้นละติจูดและลองจิจูดบนโลก ซึ่งสายตาเอียงเกิดจากความแตกต่างในความโค้งของกระจกตาหรือเลนส์ตาทั้งหมด 2 meridian ที่ตั้งฉากกัน แนวหนึ่งจะมีความโค้งมากที่สุด อีกแนวหนึ่งมีความโค้งน้อยที่สุด
Axis = แสดงถึงทิศทางของ Meridian ที่มีความโค้งน้อยที่สุดของกระจกตาหรือเลนส์ตา ซึ่งจะใช้เป็นองศาการจัดวางเลนส์เพื่อแก้ไขสายตาเอียงในการประกอบแว่น เช่น Prescription : -1.00-2.50*90  หมายถึง คนไข้มีปัญหาสายตาสั้น 1.00 Diopter สายตาเอียง 2.50 Diopter กระจกตามีความโค้งน้อยที่สุดอยู่ในแนว 90 องศา 


 Against the Rule Astigmatism ( ATR )
ในสายตาเอียงแบบ Against the Rule ความโค้งที่มากที่สุดของกระจกตาจะอยู่ในแนวนอน หรือ Horizontral Meridian  
Meridian อยู่ใกล้ 180 องศา นั่นหมายถึงกระจกตาโค้งมากในแนวนอนและโค้งน้อยกว่าในแนวตั้ง คล้ายกับลูกลักบี้ที่วางอยู่ในแนวตั้ง

ถ้าคิดเป็น Axis ก็จะอยู่ที่องศา 90 ( อยู่ในช่วง 60-120 องศา ) 


การเกิด Against the rule จะพบมากในวัยผู้ใหญ่หรือสูงอายุ

 

 

• Oblique Astigmatism
นอกจากความโค้งกระจกตาที่โค้งมากในตำแหน่งแนวตั้งหรือแนวนอนแล้ว ยังมี Oblique Astigmatism ซึ่งหมายถึงสายตาเอียงที่มีแกนเอียงไปจากแนวตั้งหรือนอนที่เป็นหลัก โดยจะมีความโค้งมากอยู่ที่ตำแหน่ง Meridian ระหว่าง 30-60 องศา หรือ 120-150 องศา

                                                        
มาเริ่มเข้าเรื่องกันดีกว่า …

เรื่องสำคัญของหัวข้อในวันนี้คือ ในวัยผู้ใหญ่ค่าสายตาเอียงจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

 

คำตอบก็คือ 

ค่าสายตาเอียงจะมีการเปลี่ยนแปลงน้อยในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น

 

ใน textbook มีการกล่าวถึงการศึกษาของ Morgan‘s เกี่ยวกับการหักเหของแสงในช่วงอายุ 13 และ 33 ปี พบว่า
ค่าเฉลี่ยของ Corneal Astigmatism (สายตาเอียงจากกระจกตา)และ Refractive Astigmatism (สายตาเอียงจากการหักเหของแสง) มีการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างน้อยในช่วงอายุเหล่านี้

Morgan’s พบว่า ในผู้ชาย Refractive Astigmatism เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 0.15 Diopter เป็น 0.26 Diopter แบบ With the Rule ในช่วง 20 ปี ในขณะที่ ผู้หญิง Refractive Astigmatism เฉลี่ยจะลดลงจาก 0.08 Diopter ถึง 0.03 Diopter แบบ With the Rule

 

 

#Note :
สายตาเอียงจากกระจกตา หรือ Corneal Astigmatism  มีสาเหตุมาจากรูปร่างของกระจกตาที่ผิดปกติ  ไม่เป็นทรงกลมสม่ำเสมอในทุกทิศทาง แต่กลับมีลักษณะเป็นวงรี หรือ โค้งในแนวใดแนวหนึ่งมากกว่าอีกแนวหนึ่ง ทำให้แสงที่เข้าตาเกิดการหักเหไม่เท่ากันในแต่ละทิศทาง จึงไม่สามารถโฟกัสที่จุดเดียวบนจอตาได้ ทำให้เกิดภาพเบลอ ภาพไม่ชัด ซึ่งสามารถเป็นมาแต่กำเนิดหรือเกิดจากการบาดเจ็บ ผ่าตัด หรือโรคทางกระจกตาได้ เช่น Keratoconus หรือ กระจกตาย้วย

 

สายตาเอียงจากเลนส์ตา หรือ Lenticular Astigmatism  เกิดจากการที่เลนส์แก้วตาหรือ Crystalline lens มีความโค้งไม่เท่ากันในแนวแกนต่างๆ แม้ว่าจะมีผลน้อยกว่ากระจกตา แต่ก็ยังส่งผลต่อการโฟกัสของแสงในดวงตา


สายตาเอียงจากการหักเหของแสง หรือ Refractive Astigmatism คือผลรวมของสายตาเอียงทั้งหมดที่มีของ Corneal Astigmatism และ Lenticular Astigmatism นั่นคือภาวะที่แสงเข้าสู่ดวงตาและมีการหักเหที่ผิดปกติ ทั้งจากกระจกตาและเลนส์แก้วตาทำให้การโฟกัสของแสงไม่สามารถรวมกันเป็นจุดเดียวบนจอตาได้

 

 


มีผลจากการศึกษาย้อนหลังของ Grosvenor ในปี 1977 พบว่า การเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาเอียงในวัยผู้ใหญ่มีน้อย
จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 111 คน พบว่า  61 คน หรือ 55% ของกลุ่มตัวอย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาเอียงในช่วงอายุระหว่าง 20 ถึง 40 ปี  ในขณะที่การเกิดสายตาเอียงแบบ With the Rule เพิ่มขึ้นถึง 14 % และสายตาเอียงแบบ Against the Rule ก็เพิ่มขึ้น 14 % เช่นเดียวกัน

มีการศึกษาในหลายงานวิจัยที่ยืนยันว่า สายตาเอียงแบบ Against the Rule เพิ่มขึ้นในวัยผู้สูงอายุ ในขณะที่สายตาเอียงแบบ With the Rule มีการลดลง


ในปี 1971  Lyle ได้รายงานถึงการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาเอียงจากกระจกตา หรือ Corneal Astigmatism ในคนไข้ 1208 คน ที่ได้เข้ามารับการตรวจในคลินิกทัศนมาตรของเขาในช่วง 28 ปี พบว่า  สายตาเอียงแบบ Against the Rule เพิ่มขึ้นจาก 6% ในช่วงอายุ 41 - 50 ปี เป็น 27% ในช่วงอายุ 61 ปีหรือมากกว่า
เขาพบว่า สายตาเอียงแบบ With the Rule จะมีการลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป และ สายตาเอียงแบบ Against the Rule จะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเช่นกัน และยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าแกนสายตาเอียงจะมีการหมุนจากแนวนอนไปแนวตััง

 

Hirsch (1959b) ได้รายงานว่า ข้อมูลของสายตาเอียงจากการหักเหของแสง หรือ Refractive Astigmatism ในคนไข้ 1606 คน พบว่าตลอด 40 ปี ในช่วงอายุระหว่าง 40-80 ปี มีการเปลี่ยนแปลงค่าสายตาเอียงเฉลี่ยอยู่ที่ 1.00 Diopter ในทิศทาง Against the Rule หรือเฉลี่ย 0.25 Diopter ทุก 10 ปี

 

 

Anstice รายงานว่า ในคนไข้ 621 คน ในช่วงอายุ 5 - 75 ปี ที่ได้รับการตรวจจากคลินิกทัศนมาตรในนิวซีแลนด์ พบว่าหลังจากอายุ 35 ปีขึ้นไป การเปลี่ยนแปลงของสายตาเอียงทั้งจากสาเหตุ Corneal Astigmatism และ Refractive Astigmatismจะเปลี่ยนไปในทิศทาง Against the Rule ในอัตราเฉลี่ยประมาณ 0.20 Diopter ต่อทุกๆ10 ปี 
Anstice รายงานว่าในคนไข้สูงอายุสามารถใช้กฎของ Javal’s Rule เพื่อหาค่าของสายตาเอียงได้ นั่นคือ
Total refractive Astigmatism = 1.25 * (keratometric astigmatism) - 0.50*90
°
เนื่องจากเป็นสายตาเอียงที่เกิดจากกระจกตาที่มีการเปลี่ยนแปลงตามอายุไม่ใช่สายตาเอียงจาก Lenticular Astigmatism จึงใช้ค่าคงที่ของ Lenticular Astigmatism ที่ -0.50 ในแกน 90 องศาเพื่อคำนวณได้

 

Baldwin และ Mills ได้รายงานว่า คนไข้อายุระหว่าง 30 - 70 ปี ที่เข้ารับการตรวจในคลินิกทัศนมาตรของ Ryer and Hotalling ในนิวยอร์ก 
ในการตรวจครั้งแรกช่วงอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 51.2 ปีและเข้ารับการตรวจครั้งสุดท้ายในช่วงอายุเฉลี่ย 65.3 ปี
พบว่าสายตาเอียงจากทั้ง2สาเหตุ ทั้ง Corneal Astigmatism และ Refractive Astigmatism มีการเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยไปในทิศทาง Against the Rule ในช่วง 15 ปี 

หมายถึง Corneal Astigmatism 0.38 Diopter ในทิศทาง With the Rule ในการตรวจครั้งแรก และ 0.07 Diopter ในทิศทาง With the Rule ในครั้งสุดท้าย 
Corneal Astigmatism มีการเปลี่ยนแปลงลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ (0.38 - 0.07) = 0.31 Diopter ในทิศทาง With the rule

Refractive Astigmatism เฉลี่ยอยู่ที่ 0.24 Diopter ในทิศทาง Against the Rule ในการตรวจครั้งแรก และการตรวจครั้งสุดท้ายมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.76 Diopter ในทิศทาง Against the Rule
Refractive Astigmatism มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ (0.24 - 0.76) = 0.52 Diopter ในทิศทาง Against the rule  
ซึ่ง Refractive Astigmatism คือผลรวมของ Corneal Astigmatism และ Lenticular Astigmatism ดังนั้นจึงมีค่าสายตาเอียงที่เกิดขึ้นจาก Lenticular Astigmatism อยู่อีก 0.21 Diopter 

ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีความแตกต่างกับข้อมูลของ Anstice ที่บอกว่า Lenticular Astigmatism มีค่าคงที่

 


พวกเขาสรุปได้ว่าการศึกษาในครั้งนี้สนับสนุนสมมุติฐานที่ว่า ความโค้งที่เพิ่มขึ้นของแกนแนวนอน หรือ Horizontal meridian ของกระจกตา (Against the Rule Astigmatism ) เริ่มต้นขึ้นในช่วงวัยกลางคนและดำเนินต่อไปตลอดช่วงชีวิตที่เหลือ ซึ่งถือว่าเป็นสาเหตุสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดของสายตาเอียงจากการหักเหของแสงตามอายุในช่วงนี้

 


จากข้อมูลด้านบน ขิงขอย่อยเนื้อหาและสรุปออกมาเป็นข้อมูลสั้นๆ คือ ในวัยผู้ใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาเอียงที่ค่อนข้างน้อย  แต่สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าคือ ทิศทางแนวแกนจาก With the Rule เปลี่ยนเป็น Against the Rule มากขึ้น 

 

แล้วถ้าจะถามว่า กำลังสายตาเอียงไม่ได้เปลี่ยน แต่ทิศทางแนวแกนที่มีความโค้งเปลี่ยน หรือพูดง่ายๆคือ Axis เปลี่ยน จะมีผลอะไรกับการมองเห็นรึป่าว ?

 

 

คำตอบคือ มีผลต่อการมองเห็น ภาพที่คนไข้เห็นจะมีความเบลอหรือผิดเพี้ยน กล้ามเนื้อตาทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้มีอาการปวดตา โดยเฉพาะเวลาที่ใช้สายตาเป็นเวลานาน เช่น การอ่านหนังสือหรือทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงมีอาการเวียนศรีษะ เนื่องจากสมองต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับภาพที่ไม่ชัดเจนอยู่ต่อเนื่องตลอดเวลา


 


สำหรับวันนี้ขอจบการแชร์เนื้อหาในเรื่องของสายตาเอียงไว้เพียงเท่านี้ หากมีประเด็นใดที่น่าสนใจขิงจะหยิบมาเขียนและแชร์ให้ทุกท่านได้ศึกษากันต่อไป 

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้สนใจทุกๆท่าน ทั้งในและนอกวิชาชีพ  ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านและเป็นกำลังใจในการแชร์ข้อมูลต่างๆเพื่อประโยชน์ต่อบุคคลภายนอกแบบนี้  ขอขอบคุณในทุกๆกำลังใจและทุกแรงสนับสนุนด้วยความจริงใจ

 

 

Ref . Theodore Grosveno Primary Care Optometry .

Content by  Worada  Saraburin , O.D .


นัดหมายเข้ารับบริการ  065-949-9550

ร้านตั้งอยู่ที่
อาคารหมายเลข  89/45 ม.3​ ต.บางกรูด​ อ.บ้านโพธิ์​ จ.ฉะเชิงเทรา​  

https://maps.app.goo.gl/VUB5EgTVntLPyGKZ9?g_st=ic

 

อยู่ติดกับถนนเส้น บางปะกง - ฉะเชิงเทรา
ฝั่งตรงข้าม เมกาโฮม ฉะเชิงเทรา
ใกล้กับร้าน ขนมเปี๊ยะ ซาลาเปา อึ๊งมุ่ยเส็ง สาขาบ้านโพธิ์