Diabetes Mellitus : โรคเบาหวาน มีผลต่อการมองเห็นและดวงตาของเราอย่างไร
Diabetes mellitus หรือโรคที่เราได้ยินคุ้นหูนั่นก็คือ โรคเบาหวาน ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นโรคเรื้อรังที่มีภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง สามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เมื่อไม่นานมานี้ มีคนไข้มาปรึกษาขิงในเรื่องของเบาหวานติดกันถึง 2 เคส ซึ่งโรคเบาหวาน เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องซักประวัติให้ละเอียดในฐานะทัศนมาตรก่อนที่จะตรวจหาความผิดปกติและวิเคราะห์ปัญหาต่อไป
บทความนี้ จึงตั้งใจเขียนขึ้นมา เพื่อแบ่งปันความรู้ให้กับผู้ที่มีข้อสงสัย และสนใจในเรื่องของโรคเบาหวานจะมีผลอย่างไรกับดวงตาและการมองห็นของเรา โดยขิงขอเขียนบทความนี้ในมุมมองของทัศนมาตร เนื้อหาส่วนใหญ่อ้างอิงจากเอกสาร AMERICAN OPTOMETRIC ASSOCIATION , Eye care of the patient with Diabetes mellitus Second edition . ขิงจะพยายามสื่อสารออกมาให้ทุกท่านเข้าใจได้ง่ายที่สุด
โรคเบาหวานสามารถแบ่งย่อยออกเป็น 4 ประเภทตามสาเหตุของการเกิดโรค
1. โรคเบาหวานชนิดที่ 1 ( Type 1 Diabetes Mellitus )
เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้าใจผิดว่า Beta cell ( แหล่งผลิตอินซูลิน ) ในตับอ่อน เป็นเซลล์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ร่างกายจึงมีการทำลาย Beta cell เหล่านั้น เมื่อตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เพียงพอ ทำให้ร่างกายมีภาวะขาดอินซูลิน โดยอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่สำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
เนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 จึงต้องได้รับอินซูลินจากการกินยา หรือฉีดอินซูลินเข้าสู่ร่างกาย เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงกับระดับปกติมากที่สุด
2. โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ( Type 2 Diabetes Mellitus )
ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 นี้ระบบภูมิคุ้มกันจะไม่มีการทำลาย Beta cell ที่ตับอ่อน จะเกิดเมื่อร่างกายผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอ ไม่สามารถใช้อินซูลินที่ผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือตอบสนองต่ออินซูลินได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้การดึงน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์ทำได้น้อยลง มีผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เราจะเรียกภาวะนี้ว่า insulin resistance หรือ ภาวะดื้ออินซูลิน
เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่พบได้บ่อยและมีการเพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลาย โดยความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานชนิดนี้จะเพิ่มขึ้นตามอายุ น้ำหนักตัว รวมถึงการขาดการออกกำลังกาย
3. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ( Gestational Diabetes Mellitus )
เบาหวานขณะตั้งครรภ์เกิดจากฮอร์โมนที่หลั่งในระหว่างการตั้งครรภ์ ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน ในขณะนั้นรกจะมีการสร้างฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์ต้านการทำงานของอินซูลิน ทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน รวมถึงตับอ่อนของหญิงตั้งครรภ์ไม่สามารถผลิตอินซูลินให้เพียงพอต่อความต้องการ มีผลทำให้น้ำตาลในเลือดสูง เป็นเหตุผลของการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มักเกิดในไตรมาสที่ 2 - 3 ของการตั้งครรภ์
4. โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ ( Other Specific Types of Diabetes )
เป็นเบาหวานที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ บางชนิดมีสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้การทำงานของ Beta cell ผิดปกติและมักจะมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงตั้งแต่อายุยังน้อย หนึ่งในนั้นคือ maturity - onset diabetes of the young : MODY โดยมีความผิดปกติทางการทำงานของอินซูลิน และ อีกชนิดหนึ่งคือ neonatal diabetes เบาหวานในทารกแรกเกิด ซึ่งมักได้รับการตรวจวินิจฉัยในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต สามารถเป็นได้ทั้งแบบชั่วคราวและถาวร
โรคเบาหวานสามาถเกิดจากโรคของตับอ่อน โรคทางต่อมไร้ท่อ การใช้ยา หรือการรับสารเคมีที่เป็นพิษ ซึ่งขัดขวางการหลั่งและการทำงานของอินซูลิน ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้
ตอนนี้เราก็ได้รู้จักโรคเบาหวานกันคร่าวๆแล้ว ต่อไปเราจะมาลงลึกถึงเรื่องของดวงตาและการมองเห็นกันบ้างว่าคนที่เป็นโรคเบาหวาน มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาอะไรเกี่ยวกับการมองเห็นได้บ้าง
ขิงจะค่อยๆไล่ ตั้งแต่ Visual Function , Ocular Motility , การตอบสนองของ Pupil และองค์ประกอบของดวงตาแต่ละส่วนที่มีความเสี่ยงเกิดความผิดปกติในผู้ป่วยเบาหวาน
1. Visual Function
• Refractive error changes : การเปลี่ยนแปลงของค่าสายตา
เกิดการเปลี่ยนแปลงของการหักเหของแสงชั่วคราว อาจเป็นได้ทั้งสายตาสั้น Myopic หรือสายตายาว Hyperopic ขึ้นอยู่กับภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำ คาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับการ absorb หรือการดูดซับของเหลวโดย crystalline lens
ในภาวะ Hyperglycemia หรือระดับน้ำตาลในเลือดสูง เลนส์แก้วตาจะ absorb น้ำเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้เลนส์ตาบวมและมีความโค้งเพิ่มขึ้น มีผลให้เกิด Myopic หรือสายตาสั้นชั่วคราว และจะหายไปเมื่อน้ำตาลในเลือดกลับมาปกติ
ในคนที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอย่างรุนแรง ในขณะทำการรักษาให้น้ำตาลในเลือดค่อยๆลดลง ในช่วงนี้เลนส์แก้วตาจะมีการปล่อยน้ำออกทำให้เลนส์แบนและมีความโค้งลดลง ทำให้เกิดเป็น Hyperopic หรือสายตายาวชั่วคราวและจะหายไปเมื่อระดับน้ำตาลกลับมาเป็นปกติ
เป็นสาเหตุว่าทำไม ขิงจึงไม่แนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดยังคงสูงอยู่ หรือควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่คงที่ตัดแว่นในขณะนั้น เพราะค่าสายตาที่ตรวจได้ขณะระดับน้ำตาลในเลือดไม่ปกติอาจไม่ใช่ค่าสายตาจริงของคนไข้ ทำแว่นไปตอนนี้ พอระดับน้ำตาลในเลือดเปลี่ยนแปลงแว่นก็มัว ใช้ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแว่นไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่าเสียเงินโดยใช่เหตุเปล่าๆ หากแต่ว่ามันจำเป็นที่ต้องทำจริงๆ คนไข้ไม่มีแว่นแล้วใช้ชีวิตไม่ได้อันนี้ก็ต้องพิจารณาเป็นเคสๆไป
• Changes in color vision : การเปลี่ยนแปลงในการมองเห็นสี
สามารถเกิดได้ในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงสามารถส่งผลให้หลอดเลือดในจอประสาทตาเสียหาย เกิดเป็น Diabetic retinopathy หรือเบาหวานขึ้นจอตา ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการมองเห็นสีผิดพลาดสามารถเกิดได้ทั้งในการแยกแยะสี น้ำเงิน - เหลือง และสีเขียว - แดง ในคนไข้ที่เป็น Diabetic retinopathy ความสามารถในการเห็นสีจะแย่ลงตามลำดับตามระยะเวลาของโรคเบาหวาน และ Macular edema หรือการบวมของจุดรับภาพจะเป็นการบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงในการมองเห็นสีที่ไม่ดีในผู้ป่วยเบาหวานเช่นกันและความรุนแรงของการแยกแยะสีที่แย่ลงจะเพิ่มขึ้นตามความรุนแรงของการบวมน้ำที่จุดรับภาพ
• Accommodative dysfunction : ความผิดปกติในการปรับโฟกัสเพื่อมองวัตถุระยะใกล้
โรคเบาหวานสามารถส่งผลกระทบต่อส่วนต่างๆของดวงตาและระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกระบวนการ Accommodation ในการปรับโฟกัสเพื่อมองวัตถุในระยะใกล้
ในภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เลนส์แก้วตาจะมีการ absorb ของเหลวเข้าไปมากขึ้น มีผลทำให้เลนส์บวม ความสามารถในการโฟกัสภาพก็จะมีการเปลี่ยนแปลง
ในขณะเดียวกัน เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างรวดเร็ว เลนส์แก้วตาอาจมีการหดตัวกลับไปสู่สภาพเดิม ทำให้ความสามารถในการโฟกัสภาพเกิดความไม่เสถียร
ดังนั้นความผิดปกติในการโฟกัสภาพจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้นและจะดีขึ้นเมื่อมีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้กลับมาเป็นปกติ
• Loss of visual acuity : สูญเสียความสามารถในการมองเห็น
ความสามารถทางการมองเห็นที่ลดลงอาจเกิดจาก Refractive shifts การเปลี่ยนแปลงการหักเหของแสง , cataract ต้อกระจก , ischemic optic neuropathy ขั้วประสาทตาขาดเลือด , papillopathy ขั้วประสาทตาบวม , macualr edema จุดรับภาพบนจอตาบวม รวมถึงโรคต่างๆบริเวณผิวของดวงตา ซึ่งความผิดปกติเหล่านี้เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวาน
• Visual field changes : การเปลี่ยนแปลงของลานสายตา
โรคเบทหวานมีผลกระทบต่อ visual field โดยหลักๆเกิดจากภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับดวงตา เช่น โรคเบาหวานขึ้นตา Diabetic retinopathy , โรคต้อหินมุมเปิด Open angle glaucoma , โรควุ้นตาหลุดลอกจากจอประสาทตา posterior vitreous detachment , ภาวะขาดเลือดของเส้นประสาทตา ischemic optic neuropathy เป็นต้น ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้สามารถทำให้เกิดการสูญเสียหรือบกพร้องของลานสายตาได้
2. Ocular Motility
เมื่อระดับน้ำตาลสูงเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความเสียหายต่อเส้นเลือดเล็กๆที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาท ทำให้เกิดการขาดเลือด เกิดการอักเสบ และบวม สามารถมีผลกระทบต่อเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น โดยเฉพาะ Optic nerve และเส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของตา นั่นคือ Cranial nerve 3 , 4 และ 6
Oculomotor nerve เส้นประสาทคู่ที่ 3 ซึ่งควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อหลายมัดรวมถึงการเปิดปิดของหนังตาและการควบคุมรูม่านตา หากเกิดความผิดปกติที่เส้นประสาทคู่นี้จะมีผลทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของดวงตาที่ผิดปกติ ตาเหล่ มีอาการหนังตาตก หรือ Ptosis เห็นภาพซ้อน เนื่องจากกล้ามเนื้อตาทำงานผิดปกติ รูม่านตาขยาย ไม่หดตัวเมื่อเจอแสง
Trochlear nerve เส้นประสาทคู่ที่ 4 ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อตาที่เรียกว่า superior oblique muscle หากเกิดความผิดปกติที่เส้นประสาทคู่นี้จะส่งผลให้เกิดอาการภาพซ้อนในแนวตั้ง หรือ vertical diplopia ได้
Abducens nerve เส้นประสาทคู่ที่ 6 ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อตาที่เรียกว่า Lateral rectus muscle หากมีความผิดปกติที่ตำแหน่งนี้จะมีผลให้คนไข้มีปัญหาในการเคลื่อนตาออกด้านนอก เห็นเป็นภาพซ้อนในแนวนอน หรือ horizontral diplopia เกิดเป็นภาวะตาเหล่เข้าซ่อนเร้น esophoriaได้
3. Pupillary Reflexes : การตอบสนองของรูม่านตา
หากภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานเกิดขึ้นกับเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของรูม่านตา อาจส่งผลให้การตอบสนองของรูม่านตาช้าลง การตอบสนองต่อแสงลดลง ทำให้รูม่านตาไม่หดตัวหรือหดตัวช้าลงเมื่อได้รับแสง
4. Conjunctiva : เยื่อบุตาขาว
ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดติดเชื้อที่เยื่อบุตาขาว เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง การติดเชื้ออาจเกิดจากแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อราทำให้เกิดอาการ ตาแฉะ คันตา รวมถึงโรคเบาหวานยังทำให้เส้นเลือดเล็กๆในร่างกายเสื่อมสภาพ การไหลเวียนเลือดทำได้แย่ลง ส่งผลให้เยื่อบุตาขาวได้รับสารอาหารและออกซิเจนไม่เพียงพอว่งผลให้เยื่อบุตาขาวเกิดการอักเสบและเสียหาย
5. Tear Film : ฟิล์มน้ำตา
โรคเบาหวานสามารถทำให้เกิดภาวะตาแห้ง เนื่องจากน้ำตาลในเลือดสูงอาจทำให้การทำงานของเส้นประสาทเสื่อมสภาพ ส่งผลให้การผลิตน้ำตาลดลงและความสมดุลของน้ำตาเปลี่ยนไป เกิดเป็นภาวะตาแห้ง ทำให้เยื่อบุตาขาวเกิดการระคายเคืองและอักเสบได้ง่าย
6. Cornea : กระจกตา
ผู้ป่วยเบาหวานมีการหายของแผลที่ช้าลง ทำให้เมื่อเกิดการบาดเจ็บหรือแผลที่กระจกตา อาจใช้เวลานานกว่าจะหายและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอาจทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกระจกตา การส่งสัญญาณประสาทจากกระจกตาไปยังสมองลดลง ส่งผลให้ความไวต่อการรู้สึกของกระจกตา หรือ corneal sensitivity ลดลง ผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกถึงการบาดเจ็บเล็กน้อยหรือการระคายเคืองทีเกิดขึ้น ทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดแผลหรือการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น เมื่อไม่รู้สึกถึงอาการ อาจทำให้การตรวจพบและการรักษาล่าช้าลง โดยเฉพาะผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์
7. Iris : ม่านตา
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานสามารถทำให้เส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อของม่านตาเสื่อมสภาพ ส่งผลต่อการหดและการขยายของรูม่านตา หรือ pupil ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของแสง เช่น รูม่านตาไม่หดลงในสภาพแวดล้อมที่มีแสงจ้า หรือไม่ขยายมากพอในที่มืด อาจมีผลต่อการมองเห็นในสภาวะแสงต่างๆ
โรคเบาหวานยังสามารถทำให้เกิดการเจริญเติบโตของเส้นเลือดงอกใหม่บริเวณม่านตาและมุมที่เชื่อมต่อระหว่างม่านตาและกระจกตา เส้นเลือดงอกใหม่เหล่านี้อาจทำให้เกิดการอุดตันของการไหลของของเหลวในดวงตา ส่งผลให้ความดันในลูกตา หรือ Intraocular Pressure เพิ่มมากขึ้นและนำไปสู่โรคต้อหินมุมปิด Neovascular glaucoma ได้
8. Crystalline lens : เลนส์แก้วตา
• Cataracts : ต้อกระจก
ต้อกระจก เป็นผลกระทบที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคเบาหวานต่อเลนส์แก้วตา ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มีความเสี่ยงที่เกิดต้อกระจกสูงถึง 4 เท่าเมื่อเทียบกับคนปกติที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน โดยเมื่อเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงสามารถทำให้โปรตีนในเลนส์แก้วตาเสื่อมสภาพและสะสมกันจนเกิดความขุ่น ทำให้แสงผ่านเข้าตาไม่ได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้การมองเห็นไม่ชัดเจนและพร่ามัวได้
• Refractive Changes : การเปลี่ยนแปลงของดัชนีการหักเห
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงสามารถทำให้เลนส์แก้วตาบวมขึ้นชั่วคราว เนื่องจากการสะสมของน้ำ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของดัชนีการหักเหของแสง หรือ Refractive index อาจทำให้ผู้ป่วยเกิภาวะสายตาสั้นหรือสายตายาวชั่วคราวได้
9. Vitreous : น้ำวุ้นตา
ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งเกิดจากน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง ทำให้เส้นเลือดเล็กๆในจอตาเกิดการอักเสบ เสื่อมสภาพ ในระยะรุนแรงจะมีการเติบโตและพัฒนาของเส้นเลือดงอกใหม่ และเส้นเลือดเหล่านี้มีความเปราะบาง สามารถแตกหักง่ายทำให้เกิดการรั่วของเลือดเข้าสู่ Vitreouse ได้ ส่งผลให้การมองเห็นพร่ามัว เห็นเงาดำลอยไปมา
และเส้นเลือดงอกใหม่ที่เกิดขึ้นมาแบบผิดปกติสามารถทำให้เกิดการยึดเกาะของน้ำวุ้นตากับจอตา อาจนำไปสู่การดึงรั้งของน้ำวุ้นตาและจอตา ทำให้เกิดการหลุดของน้ำวุ้นตาหรือการหลุดของจอตา เรียกว่า retinal detachment
ภาพจาก : https://www.aoa.org/healthy-eyes/eye-and-vision-conditions/retinal-detachment?sso=y
10. Optic Disc : ขั้วประสาทตา
โรคเบาหวานสามารถทำให้เกิดการบวมของ optic disc ได้ อาจเกิดจากการรั่วของเส้นเลือดในบริเวณใกล้เคียงหรือเกิดการขยายตัวของเส้นเลือดที่งอกขึ้นใหม่ ซึ่งการบวมของ optic disc นี้ อาจทำให้เกิดการมองเห็นที่พร่ามัวหรือสูญเสียการมองเห็นบางส่วนไปได้
ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีความดันโลหิตสูงร่วมด้วย อาจส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดที่บริเวณ Optic nerve head เพิ่มความเสี่ยงให้ความดันตาเพิ่มสูงขึ้น ความเสี่ยงของการเกิดโรคต้อหินจึงเพิ่มมากขึ้นด้วย และอาจทำให้เกิดความเสียหายบริเวณ optic disc ได้
โรคเบาหวานยังมีผลกระทบอย่างมากต่อจอประสาทตา หรือ retina ในดวงตาของเราด้วย แต่ในส่วนของ retina นี้ ขิงขอเขียนแยกให้ทุกท่านอ่านในบทความต่อไป เพราะมีรายละเอียดที่ค่อนข้างมาก ถ้าจะอธิบายให้ทุกท่านได้เข้าใจกันในบทความนี้ มันคงจะยาวเกินไป ตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ก็เป็นความความสัมพันธ์ระหว่างโรคเบาหวานและดวงตาของเรา ว่ามันมีความเกี่ยวข้อง และส่งผลกระทบอะไรถึงกันได้บ้าง
หวังว่าบทความนี้ จะเป็นประโยชน์กับทุกท่านที่สนใจ รวมถึงน้องๆในวิชาชีพ คงจะได้เข้าใจรายละเอียดกันมากขึ้น ไม่ต้องนั่งท่องจำ สักพักก็ลืม สุดท้ายก็งง ว่าที่เค้าพูดๆกันมาว่า คนเป็นเบาหวาน ค่าสายตามันจะสวิง ….. แล้วมันเพราะอะไร วันนี้หวังว่าน้องๆจะพอจินตนาการตามและทำความเข้าใจได้เพิ่มขึ้นบ้าง
วันนี้ขิงขอลาไปก่อน ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านกันมาจนจบ
หากมีเรื่องน่าสนใจ ขิงจะนำมาแบ่งปันและแชร์ข้อมูลให้ทุกๆท่านได้อ่านกันต่อไป
Content by : Worada Saraburin , O.D.
Ref : AMERICAN OPTOMETRIC ASSOCIATION , Eye care of the patient with Diabetes mellitus Second edition
ใกล้กับร้าน ขนมเปี๊ยะ ซาลาเปา อึ๊งมุ่ยเส็ง สาขาบ้านโพธิ์
นัดหมายเข้ารับบริการ 065-949-9550
ร้านตั้งอยู่ที่
อาคารหมายเลข 89/45 ม.3 ต.บางกรูด อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา
https://maps.app.goo.gl/VUB5EgTVntLPyGKZ9?g_st=ic
อยู่ติดกับถนนเส้น บางปะกง - ฉะเชิงเทรา
ฝั่งตรงข้าม เมกาโฮม ฉะเชิงเทรา
Facebook page : https://www.facebook.com/VoradaOptometry