Crystalline Lens : โครงสร้าง / คุณสมบัติ และความผิดปกติของ เลนส์แก้วตา

 

 

Crystalline Lens หรือ เลนส์แก้วตา เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการมองเห็น มีหน้าที่ปรับความคมชัดของภาพที่เรามองโดยการเปลี่ยนรูปร่าง เพื่อให้เกิดภาพที่ชัดเจนบนจอตา  แต่ละส่วนของเลนส์ตา มีองค์ประกอบและคุณสมบัติแตกต่างกันไป 
เลนส์ตามีโอกาสเกิดความผิดปกติที่อาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นและคุณภาพชีวิตของเราได้ เช่น การเกิดต้อกระจกชนิดต่างๆ ซึ่งมีสาเหตุที่เกิดขึ้นต่างกันในแต่ละตำแหน่ง  
ในวันนี้ ขิงเลยอยากมาเขียนความรู้ในเรื่องของเลนส์ตา แบ่งปันให้ทุกท่านได้ลองอ่านกัน เป็นความรู้ ที่รู้ไว้ก็ดี ไม่เสียหายหรือขาดทุนอะไร การเข้าใจถึงองค์ประกอบและคุณสมบัติของเลนส์ตา รวมถึงเข้าใจถึงความผิดปกติที่จะเกิดขึ้นเหล่านี้  ก็จะช่วยให้เราสามารถดูแลสุขภาพตาของเราได้ดียิ่งขึ้น


โครงสร้างของ Crystalline lens


Lens Capsule 
เลนส์จะถูกล้อมรอบด้วย Capsule ซึ่งประกอบด้วย Collagen และ Glycosaminoglycans หนาสุดบริเวณขอบด้านหน้าใกล้กับเส้นผ่าศูนย์กลางเลนส์ในแนวนอน อยู่ที่ 15.5 ไมโครเมตร บางสุดบริเวณด้านหลัง 2.8 ไมโครเมตร บริเวณด้านหน้าเลนส์จะมีการหนาตัวขึ้นตามอายุ บริเวณ Capsule ด้านหลังจะมีค่าคงที่ โดยการหนาตัวของ Lens capsule สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อมีการอักเสบของ Anterior Chamber หรือเกิดจากโรคอื่นๆบริเวณเยื่อบุผิวเลนส์ หรือ Lens epithelium ที่กำลังจะพูดถึงในข้อถัดไป

Epithelium 
มีเฉพาะบริเวณด้านหน้าจนถึงบริเวณ Equator ของเลนส์หรือบริเวณใกล้กับเส้นผ่านศูนย์เลนส์ในแนวนอน Epithelium เป็นส่วนที่จะมีการแบ่งตัว ยืดตัว และแปรสภาพเป็นเส้นใยหรือ Lens fibers ตลอดชีวิต ทำให้เลนส์มีขนาดใหญ่ขึ้น หนาขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น

การเพิ่มขึ้นของความดันภายในดวงตา หรือ Intra Ocular Pressure อย่างเฉียบพลันอาจทำให้เกิดการเสื่อมสภาพ และทำลายเซลล์ที่อยู่ด้านล่าง Capsule เกิดการขาดเลือด จึงเห็นเป็นจุดสีขาว เรียกว่า Glaukomflecken 

 

เนื้อเลนส์
เนื้อเลนส์ตาประกอบไปด้วยสองส่วนหลัก คือ Cortex และ Nucleus
•  Cortex จะอยู่ตรงกลางระหว่าง Capsule Lens และ Nucleus ประกอบด้วยเส้นใยที่มีความยืดหยุ่นและโปร่งแสงที่เกิดจาก Epithelium cell ที่แปรสภาพ  เส้นใยเลนส์ใน Cortex จะมีการแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนตลอดชีวิต
• Nucleus จะอยู่บริเวณศูนย์กลางของเลนส์ตา ประกอบด้วยเส้นใยเก่า ถูกบีบอัดเป็นชั้นๆ ส่วนนี้จะมีแนวโน้มที่จะเกิดการสะสมของโปรตีนและการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการขุ่นมัว และพัฒนาเป็นต้อกระจก (Cataract)

 

Zonules

เป็นเส้นใยที่ยึดจาก Pars plicata ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Ciliary body ไปยัง Capsule ด้านหน้าและด้านหลังของ Lens โดยส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญของการเกิดกระบวนการ Accommodation หรือการเพ่ง 
ในขณะที่เกิดกระบวนการ Accommodation  Zonules จะมีการคลายตัวและหดตัว ทำให้เลนส์เปลี่ยนความโค้ง เพื่อปรับโฟกัสให้เราสามารถมองเห็นภาพในแต่ละระยะได้อย่างชัดเจน

 

https://cataractcourse.com/lens-anatomy-and-development/lens-anatomy/ 

 

คุณสมบัติของ Crystalline Lens

•  เลนส์แก้วตา ประกอบไปด้วยปริมาณโปรตีนสูงที่สุดในร่างกาย 


•  ไม่มีเส้นเลือดหล่อเลี้ยง ขนส่งอาหารและของเสียผ่านทาง Aqueous humor ในเลนส์แก้วตาจะมีปริมาณโซเดียมต่ำประมาณ 10 มิลลิโมล / ลิตร  ปริมาณโพแทสเซียมประมาณ 120 มิลลิโมล / ลิตร ( ใน Aqueous humor จะมีปริมาณโซเดียมสูง และโพแทสเซียมต่ำ ) ภาวะสมดุลนี้เกิดมาจากกระบวนการ Na+/K+ Pumps จะมีการปั๊มโซเดียมออก และรับโพแทสเซียมเข้ามาภายในเลนส์แก้วตา หากกระบวนการนี้มีความผิดปกติหรือถูกรบกวน โซเดียมจาก Aqueous humor จะไหลเข้าสู่เลนส์แก้วตา ส่งผลให้เลนส์เกิดการขุ่น และบวมน้ำ


• มีการเจริญเติบโตตลอดชีวิต น้ำหนักของเลนส์เมื่อโตเต็มที่จะหนักเป็น 3 เท่าของน้ำหนักเลนส์แรกเกิด                                                                                                         

  ความกว้างของเลนส์จากด้านหน้าและหลังเพิ่มขึ้นจาก 3 มม. เมื่อแรกเกิด เป็น 5 มม. เมื่อเติบโตเต็มที่ในวัยผู้ใหญ่ และเพิ่มเป็น 6 มม.เมื่ออายุ 80 ปี                                               

 เส้นผ่านศูนย์กลางเลนส์ในแนวนอนจะเพิ่มขึ้นจาก 6.4 มม.ในช่วงแรกเกิด เป็น 9.00 มม.เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่                                                                                                         

 และความโค้งของเลนส์ยังเพิ่มขึ้นด้วยจาก Refractive Power หรือกำลังการหักเหของแสง ที่เพิ่มขึ้น


• มีค่าดัชนีการหักเหสูงถึง 1.390 เนื่องจากความเข้มข้นของโปรตีน การเพิ่มขึ้นของความโค้งและความหนาของเลนส์ที่มากขึ้นตามอายุ จะถูกชดเชยด้วยการเปลี่ยนแปลงของ Refractive index ที่เพิ่มขึ้น 


• การเกิดสีน้ำตาลของเลนส์ตาจากเดิมที่เคยใส ทำให้มีการดูดซับแสงสีน้ำเงิน แสงสีม่วง และแสง Untraviolet (UV) เปลี่ยนไป                                                                             

 เลนส์ตาที่เริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลจะมีการดูดซับแสงสีน้ำเงิน แสงสีม่วง ซึ่งมีส่วนช่วยในการปกป้องจอประสาทตา รวมถึงแสง UV จะมีการดูดซับในส่วนนี้มากขึ้น                             

 ส่งผลให้แสงเหล่านี้ไม่สามารถผ่านไปยังจอประสาทตาได้เหมือนภาวะปกติ ทำให้การมองเห็นสีและแสงสว่างของคนที่เป็นต้อกระจกแย่ลง


• กำลังหักเหเฉลี่ยของเลนส์เมื่อแรกเกิดจะอยู่ที่ 37 Diopter เมื่ออายุ 2 ขวบกำลังหักเหจะมีความเป็นบวกลดลงอยู่ 23 Diopter เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่จะมีเหลืออยู่ที่ 20 Diopter คิดเป็น 1 ใน 3 ของกำลังหักเหทัังหมดขอฃดวงตา ( กำลังหักเหทั้งหมดของดวงตาจะอยู่ที่ประมาณ 60 Diopter แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือบริเวณ Cornea หรือกระจกตาจะมีกำลังหักเหประมาณ 40 Diopter ส่วนที่สองคือเลนส์ตา มีกำลังหักเหประมาณ 20 Diopter )


• การปรับโฟกัสของดวงตา เกี่ยวกับระบบประสาทสมองคู่ที่ 3  Oculomotor nerve มีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของลูกตา การหดของรูม่านตา และควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณดวงตา ในขณะที่เรามองวัตถุในระยะที่ใกล้ขึ้น  Oculomotor nerve จะส่งสัญญาณจากระบบประสาท Parasympathetic ไปยังกล้ามเนื้อ Ciliary ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว  Zonule จะหย่อนลง เลนส์ตาจะปล่องและโค้งมากขึ้น ทำให้กำลังหักเหของแสงเพิ่มขึ้น ช่วยให้แสงที่เข้ามาโฟกัสที่จอตาได้อย่างชัดเจน  ดังนั้นสายตายาวตามวัยหรือ Presbyopia จึงมีผลมาจากการสูญเสียความยืดหยุ่นของเลนส์เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น
 

 

การเปลี่ยนแปลงของ Crystalline Lens ที่สำคัญและพบเจอได้บ่อยหรือเรียกว่าพบเจอได้ในทุกคน ต่างกันเพียงแค่ช่วงวัยที่จะเกิดขึ้นเท่านั้นนั่นก็คือ Cataract หรือต้อกระจก  ซึ่งเกิดจากการสลายของ Crytalline lens จนเกิดการตกตะกอนของโปรตีน และจับกลุ่มกันทำให้เลนส์แก้วตาขุ่น มีการสะสมของ pigment ภายในเลนส์ ส่งผลให้เลนส์มีสีเหลืองหรือสีน้ำตาล  มีการเปลี่ยนแปลงของดัชนีหักเหแสงของเลนส์แก้วตาซึ่งเกิดจากการหนาตัว และความโค้งที่เปลี่ยนไปของเลนส์ตา การดูดซับแสงในความยาวคลื่นต่างๆเปลี่ยนไป ส่งผลให้การมองเห็นแย่ลง การมองเห็นสีผิดเพี้ยนไป คนไข้จะรู้สึกว่ามองแล้วภาพจะเบลอๆเหมือนมองผ่านกระจกที่มีความขุ่น

 

 

ประเภทของ Cataract ที่พบเจอได้บ่อยๆมีอยู่ด้วยกัน 4 ชนิด คือ Nuclear Sclerosis Cataract , Cortical Cataract , Posterior Subcapsular Cataract และ Anterior subcapsular Cataract


Nuclear sclerosis Cataract

ต้อกระจกประเภทนี้จะเกิดขึ้นบริเวณศูนย์กลางของเลนส์แก้วตา จากความหนาแน่นของนิวเคลียสที่เพิ่มขึ้น ทำให้เลนส์ตาเริ่มมีสีขุ่นและเหลืองเมื่ออายุมากขึ้น
ค่าดัชนีการหักเหแสงเพิ่มมากขึ้นมีผลให้เกิด Lenticular myopia ภาวะสายตาสั้นจากเลนส์แก้วตา 

ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆก็คือ ในคนไข้ที่มีปัญหาสายตายาว หรือ Hyperopia และมีปัญหา Presbyopia สายตายาวที่เกิดจากอายุมากขึ้นร่วมด้วย ในช่วงที่ยังไม่เป็น Nuclear sclerosis เราจะ Correct Refractive error รวมถึงค่า Addition ให้เรียบร้อย เมื่อคนไข้ใส่แว่นก็จะรู้สึกมองได้ชัดเจนปกติทุกระยะ  จนมาวันหนึ่งคนไข้เริ่มรู้สึก เวลามองวัตถุระยะใกล้ๆ ถอดแว่นมันกลับมองเห็นได้ชัดกว่าตอนใส่แว่น ( หมายถึงกรณีที่แก้ไข Refractive error แบบถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่มองไม่ชัดเพราะแว่นที่ใส่ Correct ไม่ถูก อันนี้ก็อีกเรื่องนึง ) ไปตรวจพบว่าเป็น Nuclear Sclerosis แบบนี้เราจะเรียกว่า Second Sight คนไข้สามารถมองวัตถุระยะใกล้ได้ชัดอีกครั้งหนึ่งโดยไม่ต้องใส่แว่น เกิดขึ้นได้จากเลนส์ตามีการขุ่นและหนาบริเวณศูนย์กลางเลนส์ ในขณะที่เรามองวัตถุในระยะใกล้จะทำให้ขนาดของ Pupil หรือรูม่านตาหดเล็กลง หากเรามองวัตถุผ่านตำแหน่งที่เลนส์ขุ่นและหนาพอดี ก็จะพบกับ ดัชนีหักเหที่สูงขึ้นในตำแหน่งนั้น แสงที่วิ่งผ่านเข้าดวงตาก็จะเกิดการโฟกัสได้ใกล้จอตามากกว่าภาวะปกติ 

 

 Cortical Cararact


เกิดจากการเสื่อมสภาพของ Lens fiber บริเวณ cortex หรือเนื้อเลนส์ จะมีสีขุ่น ลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยม ที่มีฐานกว้างและแคบลงไปยังปลายเป็นแนวรัศมี  ระยะต่อไป Cortex จะมีลักษณะสีขาวขุ่นทั้งหมด จะเรียกระยะนี้ว่า Mature Cataract หากมีการรั่วไหลของ Lens fiber ที่เสื่อมสภาพนี้ออกจาก capsule หรือถุงหุ้มเลนส์ และ  capsule มีการเหี่ยวหรือย่น เราจะเรียกระยะนี้ว่า Hypermature cataract


Posterior Subcapsular Cataract


เป็นต้อกระจกที่เกิดบริเวณ capsule ด้านหลังของเลนส์ตา เกิดจากการเคลื่อนย้ายของ Lens epithelium ไปด้านหลัง
มักส่งผลกระทบต่อการมองเห็นระยะใกล้มากกว่าระยะไกล และมีภาวะตามัวในสภาพแวดล้อมที่มีแสงสว่าง
เนื่องจากตำแหน่งที่เลนส์ตามีการขุ่นอยู่ใกล้กับตำแหน่งศูนย์กลางการมองเห็นของเลนส์ตา ในที่ที่มีแสงสว่างมากจะทำให้ pupil มีขนาดเล็กลง ทำให้แสงที่ผ่านเข้าไปถึงจอตาผ่านได้น้อยลง
สาเหตุของต้อกระจกชนิดนี้ มีมากกว่าอายุที่เพิ่มขึ้น นั่นคือ สามารถเกิดได้จากอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ การใช้ยาสเตียรอยด์ การฉายรังสี การอักเสบภายในดวงตา หรือเกิดจากโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน , โรคผิวหนัง atopic pigmentosa ,โรคทางจอตา Retinitis pigmentosa เป็นต้น

 

Anterior subcapsular Cataract
ต้อกระจกชนิดนี้จะเกิดขึ้นบริเวณ capsule ด้านหน้าของเลนส์ตา จากการสะสมของคราบ Plaque ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพของเซลล์เยื่อบุด้านหน้า สามารถเกิดในคนที่เป็นโรคผิวหนัง atopic dermatitis และภาวะอื่นๆที่ทำให้เกิดการระคายเคืองหรือการอักเสบของเยื่อบุเลนส์

 


สำหรับเนื้อหาที่ขิงได้เขียนมาทั้งหมดนี้ ขิงพยายามเขียนให้ทุกท่าน สามารถทำความเข้าใจได้ง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้วและหวังว่าบทความนี้คงจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจทุกท่าน  รวมถึงน้องๆร่วมวิชาชีพ เพื่อนร่วมวิชาชีพทุกท่าน ได้นำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นต่อไปได้

ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านกันมาจนจบ หากมีความรู้อื่นๆ ขิงก็จะมาแชร์ให้กับทุกๆท่านได้อ่านทบทวนกันต่อไป

 


Content by : Worada  Saraburin , O.D. 

Ref : Fourth edition review of OPHTHALMOLOGY 
         จักษุวิทยา รามาธิบดี

 

 

นัดหมายเข้ารับบริการ  065-949-9550

ร้านตั้งอยู่ที่
อาคารหมายเลข  89/45 ม.3​ ต.บางกรูด​ อ.บ้านโพธิ์​ จ.ฉะเชิงเทรา​  

https://maps.app.goo.gl/VUB5EgTVntLPyGKZ9?g_st=ic

อยู่ติดกับถนนเส้น บางปะกง - ฉะเชิงเทรา
ฝั่งตรงข้าม เมกาโฮม ฉะเชิงเทรา
ใกล้กับร้าน ขนมเปี๊ยะ ซาลาเปา อึ๊งมุ่ยเส็ง สาขาบ้านโพธิ์