• คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับ ระบบการทำงานร่วมกันของทั้ง2ตา หรือ Binocular Vision

 

บทความนี้ขอเขียนขึ้นมาเพื่อให้ผู้ที่สนใจ หรือน้องๆทัศนมาตรที่ยังไม่ค่อยเข้าใจคำศัพท์ต่างๆที่เกี่ยวกับ Binocular Vision ให้เข้าใจได้กระจ่างมากขึ้นนะคะ  สำหรับผู้ที่สนใจและยังไม่เคยมีพื้นฐานเกี่ยวกับ Binocular Vision มาก่อน อาจจะรู้สึกว่าเนื้อหานั้นเข้าใจยาก แต่ลองมาค่อยๆอ่านกันดูสักหน่อย ก็จะเริ่มเข้าใจกันมากขึ้นนะคะ  

 

วันนี้จะมาอธิบายเกี่ยวกับคำศัพท์บางคำที่พวกเราชาวทัศนมาตร คงจะเคยได้ยินกันบ่อยๆและอาจจะเข้าใจกันอยู่แล้ว  แต่สำหรับบางคนอาจเป็นความรู้ที่แปลกใหม่และน่าสนใจ จึงอยากมาเขียนเพื่อเป็นความรู้เอาไว้ค่ะ

 

มนุษย์เรามีตา 2 ข้าง ซึ่งตาแต่ละข้างจะมองเห็นภาพที่ไม่เหมือนกัน เราสามารถทดสอบได้จากการปิดตาทีละข้าง แล้วลองมองไปที่วัตถุด้านหน้าดู จะพบว่าตาแต่ละข้างมองเห็นภาพไม่เหมือนกัน  แต่จะมีบางส่วนที่มองเห็นภาพออกมาได้เหมือนกัน เมื่อตาทั้ง 2 ข้าง fixate หรือมองไปที่จุดใดจุดหนึ่งที่อยู่ตรงหน้า visual field หรือลานสายตาของตาทั้งสองข้าง จะมีส่วนที่ Overlab มองเห็นภาพที่เหมือนกันอยู่ ยกเว้นทางด้าน  Temperal หรือทางด้านหูของตาแต่ข้าง

วัตถุที่อยู่ใน Visual field หรือลานสายตาข้างขวา จะมีภาพตกทางด้านซ้ายของจอตา  เช่นเดียวกัน ถ้าวัตถุอยู่ทางด้านซ้ายของลานสายตาจะมีภาพตกทางด้านขวาของจอตา  

หรือจะพูดว่า วัตถุที่อยู่ทางด้าน Nasal Visual Field จะมีภาพตกทางด้าน Temperal ของ Retina และวัตถุที่อยู่ทางด้าน Temperal Visual Field จะมีภาพตกที่บริเวณ Nasal Retina 

 

  •  

  • แล้วเพราะอะไร ทำไมมันถึงกลับฝั่งกันแบบนี้ ระหว่างภาพที่เราเห็นกับภาพที่ตกบริเวณจอตา 

 

ก็เพราะว่า การส่งกระแสประสาทจะมีการไขว้กันอยู่ในตำแหน่งที่เรียกว่า  Optic Chiasm นั่นเอง แต่ก็ยังมีกระแสประสาทอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้มีการไขว้กันอยู่ ก็คือ เซลล์ประสาทจากทางด้านซ้ายของ Retinal แต่ละข้าง ก็ยังคงอยู่ทางด้านซ้ายในบริเวณ Optic Tract , LGN , Optic Radiation และ Visual Cortex ทางด้านขวาก็เช่นกัน

แม้มนุษย์จะมีตาทั้งหมด 2 ข้าง ถึงอย่างไรมันก็ยังคงต้องทำงานร่วมกันให้เห็นภาพเป็นภาพภาพเดียวกันอยู่ดี  เราจะเรียกการทำงานร่วมกันของตาทั้งสองข้างนี้ว่าระบบ  Binocular Vision

 

วันนี้เราจะมาแนะนำให้รู้จักกับคำศัพท์ ที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบ Binocular Vision หรือ ระบบการทำงานร่วมกันของทั้งสองตามาให้อ่านกัน นั่นคือคำว่า

  •  Corresponding Retinal Points
  •  Horopter
  •  Panum’s Fusional Areas 
  •  Fixation Disparity 

เอาหล่ะ  เรามาค่อยๆทำความเข้าใจกันดีกว่า  เริ่มจากคำแรก

 

  • • Corresponding Retinal Points

 

Corresponding Retinal Point คือ จุดจุดหนึ่งในจอตา หรือ Retina ของตาแต่ละข้าง พอมี 2 ตา เราจึงเรียกมันว่าจุดคู่หนึ่งในแต่ละ Retina เมื่อจุดทั้งคู่ถูกกระตุ้นจะทำให้ตาทั้งสองข้างมี Visual Direction หรือทิศทางการมองเห็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่างเช่น เมื่อมองวัตถุชิ้นหนึ่ง บริเวณ Nasal Retina ของตาข้างหนึ่งจะ Corresponds กับ Temperal Retina ของตาอีกข้างหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่น 
6 Degree Temperal ของ Fovea ในตาขวา จะ Corresponds กับ 6 Degree Nasal ของ Fovea ในตาซ้าย
หรือ 4 Degree Nasal ของ Fovea ในตาขวา จะ Corressponds กับ 4 Degree Temperal ของ Fovea ในตาซ้าย

 

* แล้วถ้า Visual Direction หรือทิศทางการมองเห็น ไม่ได้อยู่ในทิศทางเดียวกันเราจะเรียกว่าอะไร 


ถ้าตาทั้งสองข้างมี Retinal Point ไม่สัมพันธ์กัน หรือทิศทางการมองไม่ไปในทิศทางเดียวกัน เราจะเรียกว่า Non - Corresponding Retinal Point หรือ Anomalous Retinal Correspondence

ยกตัวอย่างเช่น
เมื่อมองวัตถุชิ้นหนึ่ง ภาพจากตาซ้าย ตกทางด้าน Nasal ของ Fovea และ ภาพจากตาขวา ตกทางด้าน Nasal ของ Fovea แสดงว่ามีภาวะตาเขออก หรือ EXO Deviation 

เมื่อมองวัตถุชิ้นหนึ่ง ภาพจากตาซ้ายตกทางด้าน Temperal ของ Fovea และ ภาพจากตาขวา ตกทางด้าน Temperal ของ Fovea แสดงว่ามีภาวะตาเขเข้า หรือ Eso Deviation

สามารถทำความเข้าใจเพิ่มเติมได้จากภาพที่แนบเอาไว้ให้ได้เลยค่ะ

 

 

  • • Horopter 

 

          Horopter คือ เส้นที่สมมุติขึ้นมา โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่จุด Fixation Point ซึ่งเมื่อเราเปลี่ยนจุด Fixation หรือเปลี่ยนวัตถุที่มอง Horopter ก็จะเปลี่ยนตำแหน่งตามไปด้วย  โดยทุกๆจุดที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับวัตถุแล้วสร้าง image บนคู่ของ Corresponding Retinal Points เราจะเรียกว่า  Horopter

Ogle ( 1950 ) บอกไว้ว่าถ้า จุด Corresponding Retinal Points จากทั้ง 2 ตา ถูกวางในตำแหน่งที่ Symmetrically รูปร่างของ Horopter จะเป็นวงกลม หรือเรียกว่า  Vieth - Mueller circle ซึ่งผ่านจุด Fixation Point และจุดกึ่งกลางรูม่านตาของตาทั้ง 2 ข้าง

สำหรับจุด Fixation ที่อยู่ในระยะใกล้ Horopter จะเว้าเข้าหาผู้สังเกตุ
ถ้า Fixation อยู่ในระยะทางไกลขึ้น Horopter จะนูนเข้าหาผู้สังเกตุ 

ซึ่งถ้าวัตถุอยู่ด้านนอกบริเวณ Horopter ทางด้านบน จะเห็นเป็นภาพซ้อนแบบ Uncross Diplopia และร่างกายจะรู้สึกว่าวัตถุอยู่ไกลขึ้น
แต่ถ้าวัตถุอยู่ด้านนอก Horopter ทางด้านล่าง จะเห็นเป็นภาพซ้อนแบบ Cross Diplopia และร่างกายจะรู้สึกว่าวัตถุอยู่ใกล้ขึ้น

ลองศึกษาจากรูปที่แนบไว้ให้ จะทำให้เข้าใจได้ง่ายมากขึ้นนะคะ


 

  • • Panum’s Fusional Areas

 

Panum’s Fusional Areas  คือพื้นที่ใน Retina ของตาแต่ละข้าง จะเกิดขึ้นเมื่อภาพของวัตถุที่ตกบน Retina ของตาทั้ง 2 ข้าง ไม่ได้ตกลงบนจุด Corresponding Retinal Points ซึ่ง ถ้าภาพของวัตถุตกลงบนบริเวณของ Panum’s Fusional Areas ของ Retina ของตาแต่ละข้างจะเห็นเป็นภาพภาพเดียวเสมอ 

แต่หากวัตถุที่มอง ภาพไปตกนอกบริเวณ Panum’s Fusional Areas ก็จะทำให้เห็นเป็น Double image หรือเห็นเป็นภาพซ้อนได้

 


 

  • • Fixation Disparity

 

สภาวะที่ภาพของวัตถุ ที่ตาทั้งสองข้างกำลังมองอยู่ ไม่ได้ถูกกระตุ้นที่จุด Corresponding Retinal Point แต่ยังอยู่ในบริเวณ Panum’s Fusional Areas  ทำให้เห็นเป็นภาพภาพเดียว หรืออาจะเป็นสภาวะที่ตามีการ Overaccommodation หรือ Underaccommodation หรือ Vertical Misalignment ของตาด้วย

โดย Fixation Disparity จะวัดเป็นหน่วย Minutes of arc และขึ้นอยู่กับขนาดของ Panum’s Fusional Areas


 

สำหรับวันนี้ก็ขอพอแค่นี้ก่อนเดี๋ยวผู้อ่านจะรู้สึกเหนื่อยเกินไป  และหวังว่าบทความที่เขียนขึ้นมานี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านและผู้สนใจไม่มากก็น้อยนะคะ  

 

Content by : Worada  Saraburin , O.D.

 

ให้บริการทุกวันอังคาร - อาทิตย์ เวลา 09.30 - 18.00น. *หยุดทุกวันจันทร์

นัดหมายเพื่อเข้ารับบริการ 065-9499550

ใช้เวลาในการตรวจ 1 - 2 ชั่วโมง
สำหรับคนที่สนใจทำแว่นทางร้านเราใช้เวลาในการส่งฝนและประกอบเลนส์เข้ากรอบประมาณ 10 - 14 วันนะคะ 

ร้านตั้งอยู่ที่
อาคารหมายเลข  89/45 ม.3​ ต.บางกรูด​ อ.บ้านโพธิ์​ จ.ฉะเชิงเทรา​  

https://maps.app.goo.gl/VUB5EgTVntLPyGKZ9?g_st=ic

อยู่ติดกับถนนเส้น บางปะกง - ฉะเชิงเทรา
ฝั่งตรงข้าม เมกาโฮม ฉะเชิงเทรา
ใกล้กับร้าน ขนมเปี๊ยะ ซาลาเปา อึ๊งมุ่ยเส็ง สาขาบ้านโพธิ์

สามารถจอดรถบริเวณหน้าร้านได้เลยค่ะ