ความเครียด มีผลต่อการมองเห็นอย่างไร ?

 

 

' ความเครียด ' เป็นภาวะที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะมีผลกระทบกับเราทั้งในด้านกายภาพ จิตใจ และพฤติกรรม…. แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะตระหนักถึงผลกระทบของมันว่ามีผลกับดวงตาและการมองเห็นของเราอย่างไร

บทความนี้ขิงเขียนขึ้นมาหลังจากที่ช่วงเวลาหนึ่ง ขิงรู้สึกว่าตัวเองกำลังอยู่ในภาวะเครียด กดดัน และวิตกกังวลในหลายๆเรื่อง ในช่วงนั้นขิงก็ได้สังเกตุอาการของตัวเอง รู้สึกว่าตัวเอง ตาแห้งมาก ตาล้าง่ายกว่าปกติ ในบางครั้งก็รู้สึกมองเห็นภาพไม่ชัดทั้งที่ตัวเองกำลังใส่แว่นอยู่ จนรู้สึกหงุดหงิดในใจ ไม่ค่อยสบายตาเท่าไหร่นัก หลังจากผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้แล้ว

ได้มีเวลาว่างมานั่งทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นกับการมองเห็นของตัวเองตอนที่มีภาวะเครียด ก็มีคำพูดเกิดขึ้นอยู่ในหัวของขิง ว่า ความเครียด เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอในชีวิตไม่ช่วงใดก็ช่วงหนึ่ง เมื่อขิงได้เจอกับอาการเหล่านั้น คนอื่นก็คงจะได้เจออาการผิดปกติต่างๆแบบที่ขิงเจอเหมือนกัน วันนี้เลยอยากมาเขียนเล่าให้ทุกท่านได้อ่านกันว่า ความเครียด มีผลกับการมองเห็นของเราอย่างไรบ้าง

.

ความเครียดส่งผลต่อร่างกายอย่างไรบ้าง ?

ความเครียดเป็นปฏิกิริยาทางร่างกาย จิตใจ หรืออารมณ์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นการรบกวนของสมดุลปกติของร่างกาย

ส่วนมากอาการเครียดจะแสดงออกทางร่างกาย ซึ่งผลการวิจัยเกี่ยวกับความเครียดโดยผู้วิจัยด้านสุขภาพพบว่า ความเครียดสามารถเปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบเผาผลาญในร่างกายได้ ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจและอัตราการหายใจเร็วขึ้น ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น ปวดศีรษะและนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจ

 

 

เมื่อเรารู้สึกวิตกกังวล หวาดกลัว หรือเครียด ร่างกายจะเริ่มผลิตฮอร์โมน เช่น อะดรีนาลีน( Adrenaline ) ซึ่งทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น เพิ่มอัตราการเผาผลาญ และทำให้สมองส่งเลือดไปยังอวัยวะสำคัญมากขึ้น ขณะเดียวกัน เลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณปลายแขน ขา และดวงตาจะลดลง

เนื่องจากปฏิกิริยานี้ รูม่านตาจะขยายใหญ่ขึ้นเพราะร่างกายคิดว่าการรับแสงมากขึ้นจะช่วยให้มองเห็นสิ่งที่อาจเป็นอันตรายได้ชัดเจนขึ้น

 

ซึ่งในปัจจุบัน การใช้สื่อดิจิทัลที่มากเกินไปเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อสายตา Mental Health America รายงานว่า การรับข้อมูลข่าวสารตลอดเวลา อาจทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคต ขณะที่โซเชียลมีเดียอาจส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าและลดความมั่นใจในตัวเอง

โดยเฉลี่ยแล้ว ประชากรในสหรัฐอเมริกากว่าหนึ่งในสาม ใช้เวลาหน้าจอ 7 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไปซึ่งเพิ่มโอกาสให้เกิดความไม่สบายตาและปัญหาการมองเห็นได้

 

ความเครียดเริ่มส่งผลกับดวงตาเมื่อไหร่ ?

หากเรามีภาวะเครียดเป็นเวลานาน การที่รูม่านตาขยายตัวตลอดเวลาจะทำให้ดวงตาไวต่อแสง และอาจทำให้เกิดอาการล้าตาอย่างรุนแรง และความเครียดยังทำให้กล้ามเนื้อรอบดวงตาตึงเครียด ซึ่งอาจทำให้รู้สึกปวดตาหรือเกิดอาการกระตุกที่เปลือกตาได้

 

ปัญหาสายตาที่เกี่ยวข้องกับความเครียด

 

1. อาการเปลือกตากระตุก ( Eyelid Twitching / Myokymia )

อาการตากระตุกเป็นภาวะที่กล้ามเนื้อบริเวณเปลือกตาหดเกร็งและกระตุกโดยไม่สามารถควบคุมได้ มักเกิดที่เปลือกตาล่างมากกว่าเปลือกตาบน และอาจเป็นๆหายๆได้เอง

เมื่อร่างกายเกิดความเครียด ระบบประสาทอัตโนมัติ โดยเฉพาะระบบซิมพาเทติก จะถูกกระตุ้น ทำให้เกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อรวมถึงกล้ามเนื้อเปลือกตาด้วย เมื่อมีภาวะเครียดร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน Cortisol และ Adrenaline เพิ่มขึ้นทำให้กล้ามเนื้อหดตัวผิดปกติและอาจส่งผลให้เกิดการกระตุกของเปลือกตาได้

 

2. มองเห็นภาพเบลอ : เมื่อเกิดความเครียด ร่างกายจะหลั่ง Adrenaline และ Cortisol ซึ่งอะดรีนาลีนจะมีผลทำให้ รูม่านตาขยาย เพื่อให้ได้รับแสงมากขึ้น ส่งผลให้การโฟกัสภาพผิดปกติชั่วคราวและอาจทำให้มองเห็นภาพเบลอได้

รวมถึงกล้ามเนื้อตาที่ใช้ในการโฟกัสภาพ ( Ciliary Muscle ) อาจเกิดอาการเกร็งตัว ทำให้ดวงตาปรับโฟกัสได้ยากขึ้น ส่งผลให้มองเห็นภาพเบลอชั่วคราว โดยเฉพาะเวลาดูใกล้หรือเปลี่ยนระยะการมอง

 

 

3. ภาวะไมเกรนจากความเครียด ( Migraine with aura ) : อาการไมเกรนที่มีออร่าเกิดจากการไหลเวียนเลือดผิดปกติในสมอง ซึ่งส่งผลต่อการมองเห็น เช่น เห็นแสงวาบ( Flashing ) ภาพสั่นไหว หรือตาเบลอได้

 

4. ล้าตา & มองเห็นภาพซ้อน : อาการภาพซ้อนก็สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น เมื่อมีภาวะเครียดทำให้มีการผลิตน้ำตาที่น้อยลง รวมถึงการกระพริบตาที่ลดลงทำให้น้ำตาที่เคลือบกระจกตาไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดอาการตาแห้งมีผลทำให้เกิดอาการล้าตา หรือมองเห็นภาพซ้อนได้

หรือในอีกสาเหตุหนึ่ง เป็นสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณดวงตา เมื่อมีภาวะเครียดสมองจะหลั่งฮอร์โมน Cortisol มากขึ้น ส่งผลให้กล้ามเนื้อ Ciliary Muscle มีการหดตัวลดลง จึงทำให้เกิดการโฟกัสภาพช้าเมื่อมองวัตถุในระยะใกล้ และเกิดอาการตาล้าตามมาได้ ( ในภาวะปกติเมื่อมีการ Accommodation หรือการเพ่งเมื่อมองใกล้ กล้ามเนื้อ Ciliary Muscle จะหดตัว เลนส์ตาจะป่องตัวขึ้น เพื่อเพิ่มกำลังการหักเหแสง )

ในคนที่มีภาวะเครียดเรื้อรัง สมองอาจพยายามชดเชยโดยกระตุ้นการทำงานของระบบพาราซิมพาเทติกมากเกินไป ส่งผลให้ Ciliary Muscle หดตัวมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะ Accommodation Spasm ( เพ่งค้าง ) หรือ Accommodation Insufficiency ( ความสามารถในการเพ่งไม่เพียงพอ )ทำให้เกิดอาการตาล้า หรือเห็นภาพซ้อนได้

 

5. การเห็นจุดหรือหยากไย่ลอยไปมา ( Floaters ) : Floater คือ เงาดำเล็กๆคล้ายหยากไย่ที่เกิดจากตะกอนในน้ำวุ้นตาหรือของเหลวที่หนาตัวในน้ำวุ้นตา ฮอร์โมนจากความเครียดอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคอลลาเจนในวุ้นตา ทำให้เกิดการจับตัวเป็นกลุ่มเล็กๆซึ่งส่งผลให้มองเห็น Floater มากขึ้น

 

6. ความไวต่อแสง : เมื่อมีความเครียด ระบบซิมพาเทติกจะถูกกระตุ้นและมีการสั่งให้กล้ามเนื้อ Dilator Pupillae ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขยายของรูม่านตามีการหดตัว ส่งผลให้รูม่านตาขยาย หากมีภาวะเครียดสะสมเป็นเวลานาน รูม่านตาจะขยายตัวเป็นเวลานาน ทำให้เกิดอาการไวต่อแสง หรือ Photophobia

 

7. ตาแห้ง : ความเครียดจะกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติก มีผลทำให้ต่อมน้ำตาผลิตน้ำตาลดลง ส่งผลให้เกิดอาการตาแห้งและระคายเคืองตาตามมา

 

 

จะสามารถลดผลกระทบของความเครียดกับดวงตาได้อย่างไร?

 

AOA หรือ สมาคมทัศนมาตรสหรัฐอเมริกา มีคำแนะนำให้ลดความเครียดด้วยวิธีง่ายๆ เช่น

1. ออกกำลังกายเป็นประจำ

2. นอนหลับให้เพียงพอ ( อย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อคืน )

3. รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

4. ใช้เวลาอยู่กลางแจ้งเยอะขึ้น

5. ฝึกสมาธิหรือผ่อนคลายจิตใจ

 

 

ซึ่งในช่วงเวลาที่ขิงตกอยู่ในภาวะเครียด ในช่วงนั้นขิงพยายามทำตาม 5 ข้อที่กล่าวมาโดยเน้นไปที่ข้อ 5 เป็นส่วนมาก การฝึกสมาธิให้อยู่กับปัจจุบัน ผ่อนคลายจิตใจ ปล่อยวางจากเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่เมื่อฝึกบ่อยๆความยากที่เคยมากก็จะค่อยๆน้อยลงไป จนสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้

 

สำหรับท่านใดที่กำลังอ่านบทความนี้ และกำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งความเครียด วิตกกังวล ขิงขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน ข้ามผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นไปให้ได้ มันอาจจะยาก แต่ขิงเชื่อในความสามารถของทุกท่านที่มีอยู่ ที่จะสามารถดูแลทั้งร่างกายและจิตใจของท่านเองให้เข้มแข็งขึ้น และกลับมามีความสุข มีแรงบันดาลใจในการทำงานและการใช้ชีวิตในเรื่องอื่นๆต่อไปได้อย่างสวยงามอีกครั้งหนึ่ง

 

หวังว่าบทความนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านและผู้สนใจทุกท่าน และขอขอบคุณทุกท่านที่ให้การสนับสนุนและกำลังใจ ให้ขิงมีแรงบันดาลใจในการเขียนบทความเหล่านี้ออกมา

หากมีเรื่องที่น่าสนใจ ขิงจะกลับมาเขียนแชร์เรื่องราวความรู้ดีๆให้ทุกท่านได้อ่านต่อไป

 

 

Content by : Worada Saraburin , O.D.

Ref : AMERICAN OPTOMETRIC ASSOCIATION , Mental Health and Your Eyes

 

 

นัดหมายเข้ารับบริการ 065-949-9550

Facebook Page :  https://www.facebook.com/VoradaOptometry

ร้านตั้งอยู่ที่ 

อาคารหมายเลข 89/45 ม.3​ ต.บางกรูด​ อ.บ้านโพธิ์​ จ.ฉะเชิงเทรา​

https://maps.app.goo.gl/VUB5EgTVntLPyGKZ9?g_st=ic

อยู่ติดกับถนนเส้น บางปะกง - ฉะเชิงเทรา

ฝั่งตรงข้าม เมกาโฮม ฉะเชิงเทรา

ใกล้กับร้าน ขนมเปี๊ยะ ซาลาเปา อึ๊งมุ่ยเส็ง สาขาบ้านโพธิ์