Case Study : แก้ไขปัญหาสายตาสั้นและเอียง ร่วมกับภาวะ Intermittent Exotropia
สวัสดีทุกท่านที่คอยติดตามอ่านบทความจากร้าน Vorada Optometry เมื่อไม่นานมานี้ ขิงได้เจอเคสคนไข้เคสหนึ่ง น่าสนใจ และคงจะเป็นความรู้ใหม่ๆสำหรับคนทั้วไป เลยอยากจะมาแชร์ ความรู้นี้ให้คนไข้ทุกท่านและผู้สนใจได้ทราบ เพื่อประโยชน์ในการสังเกตุตัวเอง คนใกล้ตัว หรือลูกๆหลานๆ หากพบปัญหาตามบทความที่ขิงได้แชร์ออกไป รู้สึก " เอ๊ะ " หรือ สงสัย ว่าอาการที่พบเห็นทั้งกับตัวเองและคนรอบตัวนั้นใช่สาเหตุเดียวกับที่ขิงไหม จะได้พากันไปเข้ารับการตรวจและแก้ไขได้ทันเวลา ตรวจแล้วไม่เป็นก็สบายใจไป แต่ไม่ตรวจแล้วเป็นนี่สิ จะลำบาก แต่ถ้าเป็นแล้วตรวจได้ทัน อันนั้นยิ่งดีใหญ่ หากปล่อยละเลยให้เป็นมาก แก้ไขไม่ทันต้องมานั่งเสียใจทีหลังก็คงจะไม่ดีเท่าไหร่
Case ที่ขิงจะยกมาแชร์ในวันนี้คือ คนไข้มีปัญหา Myopia (สายตาสั้น) + Astigmtism (สายตาเอียง) + Intermittent Exotropia (ตาเขออกด้านนอกในบางเวลา)
ปัญหาสายตาสั้น+เอียง เชื่อว่าหลายๆคนคงจะมีความรู้พื้นฐานกันอยู่บ้างแล้ว แต่ปัญหา Intermittent Exotropia หรือตาเขออกด้านนอกในบางเวลานี่สิ น่าจะเป็นศัพท์ใหม่สำหรับใครหลายๆคน ในบทความนี้ขิงจึงอยากเขียนเน้นในเรื่องของ Intermittent Exotropia เป็นส่วนใหญ่ ในขอบเขตที่ทัศนมาตรอย่างขิง จะสามารถสื่อสารออกมาได้ การวิเคราะห์ แนวทางการแก้ไขต่างๆที่เน้นการใช้เลนส์ในการแก้ไขปัญหาเป็นหลัก
งั้นเรามาเริ่มกันเลย….
Intermittent Exophoria เป็นภาวะที่ตาหนึ่งข้างหรือสองข้างเขออกด้านนอกเป็นครั้งคราว ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อคนไข้เหนื่อยล้า เครียด หรือจ้องมองวัตถุที่ระยะไกล ภาวะนี้มักเริ่มต้นในวัยเด็ก
ภาวะนี้เกี่ยวข้องกับความไม่สมดุลระหว่างกล้ามเนื้อที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของตา โดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ในการหันตาเข้าด้านใน ( Medial Rectus ) และกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ในการหันตาออกด้านนอก ( Lateral Rectus )
การทำงานของกล้ามเนื้อตามีลักษณะคล้ายกับการเคลื่อนไหวตาปกติ แต่มีความไม่สมดุลระหว่างแรงดึงเข้าด้านใน ( Convergence ) และแรงดึงออกด้านนอก ( Divergence ) โดยแรงดึงออกอาจมีมากกว่าแรงดึงเข้า ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของตาออกด้านนอกเป็นครั้งคราว
คนไข้ Intermittent exotropia จะสามารถควบคุมการเบี่ยงของตาได้ในบางครั้งผ่านระบบ Fusional ซึ่งเป็นกระบวนการที่สมองรวมภาพจากตาทั้งสองข้างให้เป็นภาพภาพเดียว ถ้าระบบ Fusional ทำงานได้น้อยลง เช่น เมื่อร่างกายอยู่ในสภาวะเหนื่อยล้า หรือมีความเครียด ความสามารถในการควบคุมการเบี่ยงตาจะลดลงจึงทำให้เห็นตาเบี่ยงออกด้านนอก
คนไข้ที่เป็น Intermittent Exotropia มักไม่มีอาการชัดเจน แต่มักจะมีความไวต่อแสง อาจต้องหรี่ตาหรือปิดตาโดยเฉพาะในสภาวะแสงจ้า หรือเมื่อรู้สึกเหนื่อยล้า คนไข้บางคนอาจมีอาการมองเห็นภาพซ้อนในแนวนอนเป็นครั้งคราว รู้สึกปวดตา เมื่อยล้าดวงตาหรือไม่สบายตา
โดยอาการสำคัญ ที่คนไข้มักจะสังเกตุเห็นความผิดปกตินั้นก็คือ “ สังเกตุเห็นตามีการเคลื่อนออกด้านนอกเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะเมื่อเหนื่อยล้า หรือจ้องมองระยะไกล ” คนไข้มักจะเห็นเวลาส่องกระจกหรือถ่ายรูปเซลฟี่หน้าตัวเอง
คนไข้ Intermittent Exotropia มักมีความคมชัดของการมองเหฺ็นระยะใกล้ได้ปกติ แต่ความสามารถในการรับรู้ภาพสามมิติในระยะไกลอาจลดลง หากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขอาจทำให้เกิดอาการ Asthenopia ปวดตา ล้าตา ปวดหัว หรือเห็นภาพซ้อนเป็นช่วงๆ และสามารถกบายเป็นเห็นภาพซ้อนตลอดเวลาได้ หากมีการเห็นภาพซ้อนตลอดเวลา สมองจะมีการ Suppression หรือตัดภาพทิ้งซะจากตาข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อให้เราสามารถเห็นเป็นภาพๆเดียว ในเด็กอาจเกิดปัญหา Amblyopia ตามมาได้
► Myopia หรือ สายตาสั้น มีความสัมพันธ์กับภาวะ Intermittent Exotropia อย่างไรบ้าง ?
การมีภาวะ Myopia ( สายตาสั้น ) ร่วมกับ intermittent exotropia ( ตาเบี่ยงออกชั่วคราว ) เป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่าง ระบบ accommodation ( การเพ่งของเลนส์ตา ) และระบบ Vergence ( การเคลื่อนไหวของลูกตาทั้งสองข้างเข้าหากันหรือออกจากกัน )
ในคนที่เป็น Myopia หรือสายตาสั้น จะไม่ต้องใช้การ Accommodtion หรือการเพ่งมากเมื่อต้องมองใกล้ ( เพราะระยะ Focus อยู่ใกล้อยู่แล้ว ) ทำให้มีการกระตุ้นการ Convergence หรือการเบี่ยงตาเข้าพร้อมกันทั้งสองตาน้อยลง
เมื่อ Convergence ถูกกระตุ้นน้อยลง ตาจะมีแนวโน้มในการเคลื่อนที่ออกด้านนอกได้มากขึ้น ส่งผลให้ Exotropia เด่นชัดมากขึ้น
• การแก้ไขค่าสายตาสั้น ( Full Correction ) มีผลอย่างไรกับ Intermittent Exotropia ?
โดยปกติของคนที่ไม่ได้มีปัญหาสายตาหรือเรียกว่า Emmetropia ขณะมองวัตถุในระยะใกล้
ภาพที่เราเห็นจะไปตกที่บริเวณด้านหลังของจอตา ทำให้เราเห็นภาพนั้นเป็นภาพเบลอ ไม่คมชัด ร่างกายของเราจึงสร้างกลไกการเพ่ง หรือ Accomodation เพื่อดึงภาพให้มาตกบริเวณจอตาพอดี เราจึงสามารถมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน
ในคนที่มีปัญหาสายตาสั้น ขณะมองวัตถุในระยะใกล้ ภาพที่เห็นอาจจะไปตกพอดีกับจอตา โดยที่ร่างกายอาจไม่ต้องใช้กลไกการ Accommodation เพื่อดึงภาพให้มาตกตรงจอรับภาพ
ในกรณีที่คนไข้ยังไม่เคยใส่แว่นหรือใส่แว่นที่ยังแก้ไขค่าสายตาได้ไม่ครบถ้วน
เมื่อคนไข้ได้ใส่แว่น Full Correction หรือแก้ไขค่าสายตาที่มีอยู่หมดแล้ว คนไข้จะต้องใช้ Accommodation มากขึ้นเวลามองวัตถุในระยะใกล้เหมือนกับคนสายตาปกติ และเนื่องจากระบบ Accommodation กับระบบ Convergence มีการทำงานที่เชื่อมโยงและประสานกัน การใช้ Accommodation จะกระตุ้นให้เกิดการ Convergence หรือการเบี่ยงตาเข้าของตาทั้งสองข้าง ทำให้อาการเบี่ยงออกของตาลดลง
โดยเฉพาะในคนที่มี AC/A ratio ปกติหรือสูงกว่าปกติ การแก้ไขค่าสายตาสั้นอย่างถูกต้องจะช่วยลดอาการ Intermittent Exophoria ได้อย่างชัดเจน
แต่ในคนไข้ที่มี Low AC/A ratio ถึงแม้จะแก้ไขด้วยการจ่าย Full Correction การเพิ่ม Accommodation อาจไม่ได้กระตุ้น Convergence ได้มากพอ ทำให้ภาวะ Exotropia จะยังคงอยู่และตาเบี่ยงออกได้เป็นระยะ ในคนไข้กลุ่มนี้อาจต้องแก้ไขด้วยการเทรนกล้ามเนื้อตาหรือ Vision Therapy หรือเลนส์ Prism ช่วยด้วย
• ถ้าใส่แว่น Undercorrected Myopia ?
เมื่อคนไข้ได้รับแว่นที่แก้ไขค่าสายตาสั้นได้ไม่หมด จะทำให้คนไข้ไม่ต้องใช้ Accommodation เลยหรือใช้น้อย ทำให้ไม่มีการกระตุ้นการ Convergence ส่งผลให้ Exotropia เด่นชัดขึ้น และมีโอกาสที่จะเห็นตาเคลื่อนออกด้านนอกได้บ่อยขึ้น อาจทำให้เกิดอาการปวดตา/ตาพร่า ระหว่างการมองใกล้เพราะเกิดความไม่สมดุลระหว่างระบบการเพ่งหรือ Accommodationและระบบกล้ามเนื้อตา
► สายตาเอียงมีผลกับคนที่เป็น Intermittent Exotropia อย่างไร ?
สายตาเอียง เกิดจากความโค้งของกระจกตาหรือเลนส์แก้วตาไม่เท่ากันทุกแนว ทำให้แสงโฟกัสไม่รวมกันเป็นจุดเดียวบนจอรับภาพ คนไข้จะเห็นเป็นภาพเบลอ คนที่มีปัญหาสายตาเอียงจึงต้องมีการเพ่งอยู่ตลอดเวลาเพื่อพยายามปรับโฟกัสภาพให้ชัดขึ้น
เมื่อต้องมีการเพ่งมากอยู่ตลอดเวลา จะทำให้ระบบ Vergence หรือการเบนตาเข้าหากัน ต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา เมื่อร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า จึงทำให้ตาไม่สามารถที่จะเพ่งได้ไหว ตาก็เลยมีการเคลื่อนที่ออกไปยังตำแหน่งที่มันเคยอยู่เป็นปกตินั่นก็คือ เคลื่อนที่ออกด้านนอก (Exotropia)
ถ้าหากมีการแก้ไขค่าสายตาเอียงให้ถูกต้องแล้ว กล้ามเนื้อตาจะใช้แรงในการเพ่งน้อยลง ลดควมตึงเครียด เหนื่อยล้าของระบบประสาทและกล้ามเนื้อตาได้มากขึ้น ส่งผลให้ลดโอกาสในการเคลื่อนออกของของดวงตา คนไข้จะมีสมาธิ สามารถโฟกัสสิ่งที่ทำอยู่ได้นานขึ้น โดยไม่รู้สึกล้าตา
Case Study
คนไข้ชาย อายุ 23 ปี จากการซักประวัติ พบว่า
มีอาการมองไกลไม่ชัด มีปัญหาในการขับรถตอนกลางคืน มองไฟจราจรแล้วเห็นเป็นภาพเบลอๆมองแล้วแยกไม่ออกว่าเห็นเป็นภาพอะไร สังเกตุได้ว่าเวลาปิดตาทีละข้าง ตาขวาจะเห็นเป็นภาพซ้อน แต่ตาซ้ายไม่เห็นเป็นภาพซ้อน รู้สึกปวดตามากเวลาขับรถกลางคืน
เวลานั่งดู TV จะเห็นตัวหนังสือหรือซับแปลภาษาบนจอ TV เป็นภาพซ้อน
เวลาส่องกระจก สังเกตุว่าบางครั้งจะเห็นตาซ้ายค่อยๆลอยออกด้านนอก เวลาตั้งใจใช้ตาขวามองตาซ้ายจะลอยออก
ไม่ได้มีอาการตาเขออกตลอดเวลา
ระยะใกล้ไม่ได้มีปัญหาการมองเห็นอะไร
เคยไปพบจักษุแพทย์ เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว หมอบอกว่ามีปัญหาสายตาสั้น และเอียง ให้ตัดแว่นมาใส่ แต่ตอนนั้นไม่ได้ใส่ตลอดเวลา ใส่เฉพาะเวลาขับรถ
แต่ก่อนตอนเรียนใช้ Ipad และโทรศัพท์ ประมาณ 4 ชั่วโมงต่อวัน
ปัจจุบันฝึกงาน มองหน้าจอเกิน 6 ชั่วโมงต่อวัน ใช้แบบต่อเนื่องยาวครั้งละประมาณ 4 ชั่วโมง
VA ตาเปล่า ( ความสามารถในการมองเห็นด้วยตาเปล่า คนปกติอยู่ที่ 20/20 )
OD (ตาขวา) : 20/70-2
OS (ตาซ้าย) : 20/40-1
OU (สองตา) : 20/50-1
• ขั้นตอนการตรวจหาค่าสายตา
Retinoscope ( หาค่าสายตาโดยดู reflex ที่สะท้อนออกมาจากดวงตาคนไข้)
OD : +0.25-1.25*180 VA 20/30+2
OS : -0.25-1.00*180 VA 20/20
Monocular Subjective ( หาค่าสายตาโดยการถามตอบจากคนไข้ทีละตา )
OD : +0.25-1.50*180 VA 20/25
OS : Plano-1.00*180 VA 20/20
Best Visual Acuity ( หาค่าสายตาสุดท้าย และ Balance Accommodation ของทั้งสองตาโดยการถามตอบจากคนไข้ )
OD : Plano-1.50*180 VA 20/25
OS : -0.50-1.00*180 VA 20/20
Confirm hand-held Refraction บน Trial frame ( รีเช็คค่าสายตาจากการดู Reflec ของแสงที่สะท้อนจากตาของคนไข้ และ รีเช็คค่าสายตาเอียงเมื่อเลนส์อยู่ในตำแหน่งที่คล้ายกับตำแหน่งใช้งานอยู่บนหน้าแว่นจริง )
OD : Plano-1.50*180 VA 20/25
OS : -0.75-0.50*165 VA 20/20
• ขั้นตอนการตรวจกล้ามเนื้อตา : หาปริมาณ , ทิศทางของตาเหล่ซ่อนเร้น ( Phoria ) และแรงชดเชยในการเหลือบตาเข้าและออก ( Vergence )
Cover test ( ตรวจดูความผิดปกติตาเขตาเหล่ซ่อนเร้น ) :
Exotropia OU @ distance
Exotropia OU @ near แต่ตาเคลื่อนเข้าน้อยกว่า distance
คนไขัมีปัญหาตาเขออกด้านนอกทั้งที่ระยะไกลและระยะใกล้
Maddox rod on freespace หลังแก้ไข BVA : 4 BI
Worth4dot : Normal ไม่มี Diplopia
Phoria & Vergence @ ระยะไกล 6 เมตร
Phoria Horizontal : 5 Base In
Vergence : BO x / 4 / 6
Phoria & Vergence @ ระยะใกล้ 40 cm.
Phoria Horizontal : 4 Base In
Vergence : BO 8 / 12 / 6
Phoria Vertical : Orthophoria @Distance & near
AC/A ratio : 4.5 : 1
• ขั้นตอนการตรวจการเพ่งของเลนส์ตา
NRA ( ความสามารถในการคลายการเพ่งของเลนส์ตา ) : +1.75
PRA ( ความสามารถในการเพ่งของเลนส์ตา ) : -1.25
BCC ( ค่า Addition ที่คนไข้ต้องการช่วยในการเพ่งให้เห็นชัดที่ระยะ 40 cm. ) : 0
วิเคราะห์ปัญหาจากการตรวจได้ในครั้งนี้
• ในระยะไกลคนไข้มีปัญหาสายตายาวในตาข้าวขวา มีปัญหาสายตาเอียงแบบ Simple Myopic Astigmatism ในตาข้างขวาและปัญหาสายตาสั้นและเอียงแบบ Compound Myopic Astigmatism ในตาซ้าย
ตาขวา : สายตาเอียง -1.50 ที่องศา 180
ตาซ้าย : สายตาสั้น -0.75 Diopter สายตาเอียง -0.50 Diopter ที่องศา 165
-
• เมื่อดูผลจากค่า BCC = 0 ในระยะใกล้คนไข้มีปัญหาในการเพ่งที่ระยะ 40 ซม. ซึ่งเป็นค่าปกติเมื่อเทียบกับอายุ
• มีค่า NRA หรือความสามารถที่คนไข้เพ่งได้เองแล้วคลายการเพ่งออกมา = +1.75 Diopter ซึ่งอาจจะน้อยกว่าปกติเมื่อเทียบกับอายุเล็กน้อย
• เมื่อดูจากค่า PRA สามารถเพ่งได้อีก -1.25 Diopter ซึ่งเป็นค่าที่น้อยกว่าปกติเมื่อเทียบกับอายุ ซึ่งคาดว่ามีสาเหตุมาจาก ในคนที่เป็น Intermittent exotropia จะมีภาวะตาเขออกด้านนอก ความสามารถในการ Convergence จะน้อย และอย่างที่ขิงบอกไปว่า ระบบ Accommodation จะทำงานประสานกันกับระบบ Convergence
PRA คือการใส่เลนส์ - ไปเรื่อยๆ ต้องใช้กำลังในการเพ่งเพื่อดึงตาเข้ามาให้สามารถรวมภาพเป็นภาพๆเดียวได้
ซึ่งขณะที่เพิ่มเลนส์ลบ จะมีการ Accommodation และทุกครั้งที่มีการ Accommodation ระบบ Convergence ก็จะทำงานไปด้วย แต่ในคนที่เป็น Intermittent exotropia มีความสามารถในการ Convergence ได้น้อย จึงทำให้แสดงค่า PRA ที่ต่ำออกมา
กล้ามเนื้อตาจากการทำ Cover Test และ Test อื่นๆเพื่อดูกล้ามเนื้อตา พบว่าคนไข้มีภาวะ Exotropia หรือตาเขออกในตาทั้งสองข้าง แต่มีการเขออกเป็นครั้งคราว และคนไข้มี AC/A ratio ที่ปกติไปทางสูงนิดหน่อย ซึ่งแสดงว่า การแก้ไขการทำงานของ Accommodation จะมีผลต่อค่า Vergence ที่คนไข้มีอยู่ด้วย
จึงตัดสินใจแก้ปัญหาโดยการจ่ายแว่น Full Correction แก้ไขค่าสายตาที่คนไข้มีทั้งหมด และนัดคนไข้กลับมาตรวจดูอาการอีกครั้งในอีก 1 เดือน ซึ่งขิงแนะนำให้คนไข้พยายามใส่แว่นให้ต่อเนื่อง ใส่ตลอดเวลา และอาจจะใส่ยากในช่วงแรกๆ อาจมีอาการปวดตาบ้าง เพราะดวงตาและกล้ามเนื้อตาของคนไข้เคยชินกับการเพ่งอยู่เป็นปกติ พอมีอะไรไปช่วยลดการทำงาน ก็อาจจะรู้สึกอึดอัด ขัดใจ แสดงอาการออกมาเป็นการล้าตา หรือปวดตาได้ แต่ขอให้พยายามใส่เพื่อลดอาการในระยะยาว
ค่าสายตาที่จ่ายแว่น
OD : Plano-1.50*180
OS : -0.75-0.50*165
ผ่านไป 1 เดือนครึ่ง … คนไข้นัดเข้ามาตรวจดูอาการอีกครั้ง
หลังจากใส่แว่น Full correction ที่ได้ทำไป ในช่วงแรกๆใส่แล้วจะรู้สึกปวดตา แต่ใส่ไปเรื่อยอาการปวดตาค่อยๆหายไป
ตอนนี้ไม่รู้สึกต้องเพ่งมากเหมือนแต่ก่อนแล้ว
ก่อนหน้านี้ที่ยังไม่ได้ใส่แว่นเวลาขับรถตอนกลางวันจะรู้สึกปวดหัวมาก จนต้องจอดรถข้างทางอยู่ตลอด ตอนนี้ปวดน้อยลงแล้ว
รู้สึกว่าพอใส่แว่นไปแล้ว เห็นภาพชัดขึ้น แล้วสังเกตุว่าตาลอยออกน้อยลงแล้ว เพราะรู้สึกเหมือนมีอะไรให้มอง
เลยทำการตรวจค่าต่างๆซ้ำอีกครั้ง
Best Visual Acuity
OD : Plano-1.50*180 VA 20/25+2
OS : -0.75-0.50*165. VA 20/20
Cover test ( ตรวจดูความผิดปกติตาเขตาเหล่ซ่อนเร้น ) :
Exotropia OU @ distance
Exotropia OU @ near แต่ตาเคลื่อนเข้าน้อยกว่า distance
คนไขัมีปัญหาตาเขออกด้านนอกทั้งที่ระยะไกลและระยะใกล้
Maddox rod on freespace หลังแก้ไข BVA : 4 BI
Worth4dot : Normal ไม่มี Diplopia
Phoria & Vergence @ ระยะไกล 6 เมตร
Phoria Horizontal : 4.5 Base In
Vergence : BO 2 / 8 / 10
Phoria & Vergence @ ระยะใกล้ 40 cm.
Phoria Horizontal : 4 Base In
Vergence : BO 8 / 14 / 10
Phoria Vertical : Orthophoria @Distance & near
AC/A ratio : 4 : 1
หลังจากตรวจพบว่าค่าต่างๆมีการเปลี่ยนแปลงไปไม่มากจากเดิม จึงแนะนำให้คนไข้ใส่แว่นตัวเดิมที่แก้ไข Full Correction เหมือนเดิมอย่างต่อเนื่อง และจะนัดเข้ามาตรวจดูผลอีกในอีก 6 เดือนข้างหน้า หากมีความคืบหน้าอย่างไรจะมาแชร์ให้ทุกท่านได้อ่านกันต่อไป
ในคนไข้ที่มีทั้งปัญหาสายตาสั้น และเอียง ร่วมกับมีภาวะตาเขออกด้านนอกเป็นบางเวลาอีก
เปรียบเหมือนกับ เรามอบหมายหน้าที่ให้สมองและดวงตาเรารับผิดชอบ2ปัญหาไว้เพียงผู้เดียว
สมองและกล้ามเนื้อตาต้องพยายามปรับภาพให้คมชัดจากปัญหาสายตาสั้นและเอียง และยังต้องประคองดวงตาให้อยู่ตำแหน่งตรงกลางอีกทั้งๆที่มันอยากจะออกไปด้านนอกอยู่ตลอดเวลา เมื่อแก้ไขปัญหาสายตาสั้นและเอียง ให้ภาพชัดเจนขึ้น สมองและกล้ามเนื้อตาไม่ต้องพยายามรวมภาพเยอะ ตาจึงเคลื่อนที่หลุดออกไปด้านนอกน้อยลง
สำหรับท่านใดที่อ่านแล้ว มีอาการที่น่าสงสัย หรือมีคนรอบข้างที่มีอาการดังกล่าว ก็แนะนำให้ท่านรีบเข้าไปพบและขอรับคำปรึกษาจากทัศนมาตรใกล้บ้าน หรือท่านใดมีปัญหาอยากปรึกษาหรือขอคำแนะนำ ก็สามารถ inbox เข้ามาหาขิงได้ในเพจ Facebook ถ้าไม่เหนือบ่ากว่าแรง หรือเกินความสามารถของขิง ก็จะตอบให้ด้วยความเต็มใจและยินดี
ขอขอบคุณทุกท่านที่อ่านจนจบและคอยติดตามสนับสนุน VORADA OPTOMETRY เสมอมา
หากมีเรื่องน่าสนใจ หรือเรื่องราวดีๆ ขิงจะมาแชร์ให้ทุกท่านได้อ่านกันใหม่ ….
Content by : Worada Saraburin , O.D.
ให้บริการทุกวันพฤหัสบดี - อังคาร เวลา 09.30 - 18.00น. *หยุดทุกวันพุธ
ท่านใดที่สนใจนัดหมายเข้ารับบริการ ติดต่อได้ที่เบอร์ 065-949-9550
ใช้เวลาในการตรวจ 1 - 2 ชั่วโมง
สำหรับคนที่สนใจทำแว่นทางร้านเราใช้เวลาในการส่งฝนและประกอบเลนส์เข้ากรอบประมาณ 10 - 14 วันนะคะ
ร้านตั้งอยู่ที่
อาคารหมายเลข 89/45 ม.3 ต.บางกรูด อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา
https://maps.app.goo.gl/VUB5EgTVntLPyGKZ9?g_st=ic
อยู่ติดกับถนนเส้น บางปะกง - ฉะเชิงเทรา
ฝั่งตรงข้าม เมกาโฮม ฉะเชิงเทรา
ใกล้กับร้าน ขนมเปี๊ยะ ซาลาเปา อึ๊งมุ่ยเส็ง สาขาบ้านโพธิ์
Facebook Page : Vorada Optometry