STEREOPSIS : การมองเห็นภาพ  3 มิติ มีผลต่อการใช้ชีวิตของเราอย่างไร ?

 

 

บทความนี้มีแรงบันดาลใจในการเขียนมาจากคนไข้คนหนึ่งเป็น Amblyopia ( โรคตาขี้เกียจ ที่แก้ไขด้วยแว่นแล้วยังมีการเห็นที่น้อยกว่า 20/40 ของตาทั้งสองข้างหรือมีความสามารถในการมองเห็นต่างกัน 2 บรรทัด ) ที่หมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคตาขี้เกียจมาตั้งแต่เด็ก  ปัจจุบันแก้ไขด้วยแว่นตาให้สามารถมองเห็นได้ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถมองเห็นได้ บอกกับขิงว่า ไม่เคยเข้าใจเลย ว่าโรคนี้มีผลกับการมองเห็น 3 มิติแล้วมันเกี่ยวข้องกับอะไรในชีวิตบ้าง วันนี้ขิงเลยอยากมาเขียนให้ทุกท่านได้ศึกษาเพิ่มเติมกันสักนิดว่า  การมองเห็น 3 มิติมันคืออะไร  
มีผลกับการใช้ชีวิตของเราอย่างไร 

ในเคสของคนไข้ที่ขิงกล่าวถึง เป็นโรคตาขี้เกียจ ที่การมองเห็นทั้งสองตาแย่กว่า 20/40ทั้งสองข้าง และไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเท่ากันได้  ดวงตาไม่ได้รับการกระตุ้นให้ใช้ตาทั้งสองข้างร่วมกัน ทำให้พัฒนาการการมองเห็นแบบ 3 มิติไม่สมบูรณ์
Binocular vision หรือการทำงานร่วมกันของทั้งสองตา เป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการเกิด Stereopsis เมื่อการมองเห็นของตาทั้งสองข้างทำงานร่วมกันได้ดี สมองได้รับข้อมูลและสามารถประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้เราสามารถรับรู้สิ่งต่างๆในรูปแบบสามมิติและประเมินระยะห่างของวัตถุได้อย่างแม่นยำ

 


Stereopsis คือ ความสามารถในการมองเห็นภาพสามมิติหรือความลึกโดยการประสานงานระหว่างตาทั้งสองข้าง ดวงตาของเรามีระยะห่างกันเล็กน้อย ตาแต่ละข้างจึงมีภาพบางส่วนที่มองเห็นแตกต่างกัน และมีภาพบางส่วนที่เหมือนกัน สมองจึงนำภาพจากทั้งสองตานี้ที่ต่างกันมาประมวลผลรวมกัน และตีความออกมาเป็นความลึก ทำให้เรารับรู้ถึงความลึก และระยะห่างของวัตถุ  อย่างเช่น เราสามารถมองเห็นว่า รถคันข้างหน้าอยู่ห่างกับเราแค่ไหน สามารถกะระยะห่างได้ขณะต้องจอดรถติดไฟแดง หรือยูเทิร์นกลับรถ ได้อย่างปลอดภัย ไม่เกิดการปะทะหรือชนกัน  (ถ้าภาพจาก 2 ตาต่างกันมากเกินไป สมองจะไม่สามารถรวมภาพได้ ทำให้เกิดเป็นภาพซ้อน หรือ Diplopia)   

 

ภาพจาก https://www.scientificamerican.com/article/exploring-the-depths-of-vision/


ความสามารถในการเกิด Stereopsis ขึ้นอยู่กับ

1. Good Visual Acuity : การมองเห็นที่ดีจากตาทั้งสองข้าง
ก่อนที่จะมี Stereopsis ที่ดีได้ ต้องมีความสามารถในการมองเห็นจากตาทั้งสองข้างที่ดีก่อน  นั่นคือ การแก้ปัญหาสายตาที่มีอยู่  เพื่อให้ภาพที่ไปตกบริเวณจอตามีความคมชัดพอๆกัน 
การรวมภาพจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีองค์ประกอบด้วยกัน  3 อย่างคือ 1. ภาพต้องมีลักษณะคล้ายกัน 2. ภาพต้องมีขนาดเท่ากัน 3. ภาพต้องมีความคมชัดเท่ากัน 
ดังนั้นหาก Refractive error ที่คนไข้มีไม่ถูกแก้ไขให้ถูกต้องทั้งสองตา ก็จะมีผลต่อการเกิด Stereopsis

2. Alignment : การวางตำแหน่งของดวงตา 
ตาทั้งสองข้างต้องอยู่ในตำแหน่งที่สามารถมองเห็นวัตถุเดียวกันและทำงานร่วมกันได้ หากตำแหน่งของดวงตาผิดปกติ เช่น มีปัญหาตาเขตาเหล่ ที่ทำให้ตาไม่สามารถมองเห็นวัตถุเดียวกันและรวมภาพเป็นภาพเดียวได้  จะทำให้การเกิด Stereopsis ทำได้ยาก ในคนไข้ที่มีปัญหา Phoria หรือ ตาเหล่ซ่อนเร้น ไม่ว่าจะเป็นแนว Horizontral (Exophoria/Esophoria) หรือแนว Vertical (Hyperphoria/Hypophoria) จึงต้องได้รับการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ตาทั้งสองข้างทำงานร่วมกันได้ดีและไม่มีผลที่จะทำให้ Stereopsis แย่ลง

 

   

 

3. Fusion Ability : ความสามารถในการรวมภาพ
สมองต้องสามารถรวมภาพจากตาทั้งสองข้างเป็นภาพภาพเดียวกันได้ แต่ถ้าหากไม่สามารถรวมภาพได้ ก็จะทำให้เกิดเป็นภาพซ้อน หรือ Diplopia และไม่สามารถรับรู้ความลึกได้ ซึ่งการ Fusion นี้ก็มีผลมาจากการแก้ไขปัญหาทั้งสองข้อด้านบนที่กล่าวมาแล้วให้ถูกต้อง นั่นคือการแก้ไข Refractive error และ Alignment ให้กลับมาเป็นปกติ

นอกจากองค์ประกอบสำคัญทั้ง 3 ที่พูดไป สิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือการทำงานของสมอง สมองต้องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถประมวลผลภาพจากตาทั้งสองข้างให้รวมเป็นภาพเดียวได้   รวมถึงกายภาพของจอตาต้องไม่มีความเสียหายหรือปัญหาที่มีผลกับการมองเห็นภาพ เช่น Retinal detachment โรคจอตาหลุดลอก หรือโรคจอตาอื่นๆ  หากทุกองค์ประกอบอยู่ในสภาวะที่สมบูรณ์ ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ การมองเห็นความลึก และการกะระห่าง ก็จะเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ

 


Stereopsis หรือการมองเห็นแบบ 3 มิติ มีบทบาทอย่างไรในชีวิตประจำวัน ?

1. การขับรถ 

Stereopsis จะช่วยในการประเมินระยะห่างระหว่างรถกับวัตถุหรือรถคันอื่น สามารถมองเห็นและตอบสนองต่อสิ่งกีดขวางหรืออันตรายที่กำลังจะเข้ามา และลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้


2. การเดินและการเคลื่อนไหว 

เมื่อเรามีการมองเห็นแบบ 3 มิติ เราจะสามารถเดินขึ้นลงบันไดหรือเคลื่อนที่ในพื้นที่มีสิ่งกีดขวางได้อย่างปลอดภัย สามารถประเมินระยะห่างและหลบหลีกการชนกับวัตถุได้ ลดการเกิดอุบัติเหตุการสะดุดล้มได้


3. การเล่นกีฬา 

กีฬาที่ต้องจับหรือขว้างวัตถุที่ต้องใช้การประเมินระยะห่าง และความลึกอย่างแม่นยำ เช่น ฟุตบอล  บาสเก็ตบอล เทนนิส หรือ แบตมินตัน ส่งผลให้สามารถเล่นกีฬาได้อย่างมีประสิทธิภาพ


4. การประเมินความลึก 

ช่วยในการตัดสินใจเมื่อมีการก้าวข้ามสิ่งกีดขวางหรือการกระโดด  สามารถช่วยในการประเมินความลึก เช่น ความลึกของสระน้ำ แอ่งน้ำ หรือพื้นที่ลึกอื่นๆ


5. การทำงาน 

การใช้เครื่องมือหรือการทำงานที่ต้องการความแม่นยำ ความละเอียดและการประเมินระยะห่าง เช่น การใช้มีดหรืออุปกรณ์อื่นๆ สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยและมีความเสี่ยงน้อยลง


6. ความมั่นใจและคุณภาพชีวิต 

คุณภาพชีวิตอาจลดลงเนื่องจากความยากลำบากในการทำกิจกรรมที่ต้องการความแม่นยำในการประเมินระยะห่าง  อาจทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการทำกิจกรรมต่างๆในชีวิต

 

 

ในคนไข้บางคนก่อนที่จะได้รับการแก้ไข Refractive error อย่างถูกต้องจะมีพฤติกรรมการเดินชนสิ่งกีดขวางต่างๆ กลายเป็นถูกตีความว่า เป็นคนซุ่มซ่าม เดินชนนู่นชนนี่ ซึ่งเกิดจากการกะระยะผิดพลาดไปนั่นเอง  ในเด็กที่มีปัญหาสายตาอยู่แล้วยังไม่ได้แก้ไข ผู้ปกครองอาจสังเกตุได้ว่า เด็กจะไม่ค่อยออกไปทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น  อาจเกิดจากเด็กมีความลำบากในการทำกิจกรรมทำให้เกิดความไม่มั่นใจ กลายเป็นเด็กเก็บตัวไปโดยปริยาย


Stereopsis กับการทำงาน

การมองเห็นภาพสามมิติหรือความลึก มีผลสำคัญกับหลายอาชีพที่ต้องการความแม่นยำในการประเมินระยะห่าง วันนี้ขิงเลยยกตัวอย่างอาชีพที่เห็นภาพกันได้ง่ายๆว่า การกะระยะ มันมีความสำคัญอย่างไรมาให้ทุกท่านได้อ่านกัน 

1. นักบิน

นักบินจะต้องใช้ Stereopsis ในการประเมินระยะห่างและความลึกที่แม่นยำระหว่างเครื่องบินกับรันเวย์ ขณะเครื่องบินกำลังลงจอดเและการบินขึ้น สามารถประเมินระยะห่างระหว่างเครื่องบินกับเครื่องบินลำอื่น รวมถึงอาคารและสิ่งกีดขวางได้อย่างแม่นยำเพื่อหลีกเลี่ยงการชนและการบินอย่างปลอดภัย  และยังช่วยให้นักบินสามารถประเมินระยะห่างระหว่างอุปกรณ์และเครื่องมือภายในห้องนักบิน ซึ่งสำคัญสำหรับการควบคุมและการปฏิบัติงาน

Stereopsis จึงมีความสำคัญมากอย่างยิ่งในอาชีพนักบิน เพราะต้องพึ่งพาความสามารถในการรับรู้ความลึกและกะระยะห่างอย่างแม่นยำในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาชีวิตผู้โดยสารให้ถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัย 

2. ศัลยแพทย์

การรับรู้ความลึกช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถตัดและเย็บเนื้อเยื่อได้อย่างแม่นยำ สามารถประเมินระยะห่างระหว่างเครื่องมือผ่าตัด เนื้อเยื้อและอวัยวะสำคัญโดยรอบได้อย่างถูกต้อง ช่วยประเมินมิติภายในร่างกายในการเคลื่อนย้ายและจัดตำแหน่งเครื่องมือผ่าตัด  มีผลในการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ลดความเสี่ยง ทำให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย

3. วิศวกร

Stereopsis ช่วยให้วิศวกรสามารถออกแบบโครงสร้างที่ซับซ้อนได้ สามารถสร้างและประเมินโมเดลสามมิติ เพื่อให้มั่นใจว่าองค์ประกอบต่างๆสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างถูกต้อง สามารถจัดวางองค์ประกอบต่างๆในพื้นที่ก่อสร้างได้อย่างแม่นยำ การรับรู้มิติช่วยให้วิศวกรสามารถตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการก่อสร้างหรือการผลิตได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

4. ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจ

การรับรู้ความลึกช่วยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร สามารถประเมินระยะห่างระหว่างตนเองกับผู้ต้องสงสัยหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำ ช่วยในเหตุการณ์ที่ต้องการความรวดเร็วในการขับขี่ ต้องพึ่งพา Stereopsis ในการประเมินระยะห่างระหว่างยานพาหนะกับสิ่งกีดขวางบนถนนและยานพาหนะอื่นๆ ช่วยให้การขับขี่ปลอดภัยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ  และเรื่องสำคัญ ที่การมองเห็นระยะลึกมีผลเป็นอย่างมาก คือการใช้อาวุธและอุปกรณ์ต่างๆ ในการเล็งและยิงเป้าหมาย สามารถประเมินระยะห่างในการใช้ระเบิดและอาวุธได้อย่างแม่นยำและปลอดภัย

5. ช่างภาพและผู้กำกับภาพยนต์

การรับรู้ความลึกช่วยให้สามารถจัดองค์ประกอบภาพได้อย่างมีมิติ น่าสนใจและมีประสิทธิภาพ ช่วยในการวางแผนและจัดฉากในภาพยนตร์เพื่อให้ไดัภาพที่มีความลึกและสมจริง สามารถเลือกมุมกล้องที่ดีช่วยเพิ่มความดึงดูดและความน่าสนใจในภาพยนตร์ มีผลในการจัดแสงและเงาในฉากเพื่อเพิ่มความลึกและความสมจริงซึ่งสำคัญในการถ่ายทอดเรื่องราวและความรู้สึก 

อาชีพที่ได้ยกตัวอย่างมานี้ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า หากการมองเห็น3มิติมีปัญหา จะเกิดความเสี่ยงและทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงอย่างเห็นได้ชัด  รวมถึงอาชีพอื่นๆอีกหลายๆอาชีพที่ไม่ได้พูดถึง การมองเห็น Stereopsis ก็ยังคงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญมากน้อยก็ต่างกันไปในแต่ละอาชีพ  อย่าว่าแต่อาชีพเลย มันมีผลมาตั้งแต่ก่อนที่เราจะมีอาชีพเสียอีก เรื่องนี้มันจำเป็นตั้งแต่ที่เราเริ่มฝึกเดินตอนเด็ก เดินยังไงให้ไม่ชนนู่นชนนี่ ปั่นจักรยานบนถนนยังไงให้ปลอดภัย เล่นกีฬากับเพื่อนๆที่โรงเรียนยังไงให้ได้แต้มมาโดยการใช้มือหรือเท้าเป็นตัวควบคุมอุปกรณ์ให้ส่งไปยังจุดเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ


ทุกท่านที่ได้อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ตอนนี้ก็คงจะเข้าใจมากขึ้นบ้างแล้วว่า  การทำงานร่วมกันของทั้งสองตา มันมีความสำคัญยังไง ถ้าตานึงดีอีกตาดีไม่เท่ากันหรือเสีย ใช้งานร่วมกันทั้งสองตาไม่ได้ ก็จะเกิดผลกระทบตามมา  ดังนั้นสิ่งใดที่ทำแล้วมันไปลดประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตก็อย่าไปทำมันเลย ถ้ารู้สึกว่าเป็นปัญหาอยู่ก็ไปแก้ไขให้มันถูกต้องทั้งสองข้าง  อย่าแก้แค่ข้างเดียวแล้วให้ตาเราใช้งานแค่ข้างเดียว ( พวกการใช้ตานึงมองไกล อีกตานึงใช้สำหรับดูใกล้อะไรประมาณนั้น ) แต่ถ้าหากมันจำเป็นที่จะต้องทำจริงๆ ด้วยเหตุที่มันแก้ไขวิธีอื่นไม่ได้แล้ว ก็อยากให้ท่านได้เข้าใจไว้ว่าผลที่มันจะเกิดขึ้น และการเสียโอกาสต่างๆมันก็เป็นไปตามที่กล่าวมาข้างต้น   ทุกการตัดสินใจ หากยอมรับผลที่มันจะเกิดขึ้นตามมาได้ก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้ผิดอะไร

วันนี้ขิงขอลาไปก่อน  หวังว่าบทความนี้จะสร้างประโยชน์ให้กับทุกท่านที่สนใจไม่มากก็น้อย
ขอขอบคุณทุกท่านที่สนใจและติดตามอ่านมาจนจบ  หากมีเรื่องราวดีๆที่น่าสนใจ จะมาเขียนแบ่งปันความรู้ให้ทุกท่านได้อ่านกันเรื่อยๆนะคะ

 

\

 

Content by : Worada  Saraburin , O.D. 

Ref : textbook DIAGNOSTIC PROCEDURES by DR.RICHARD E.MEETZ

 

นัดหมายเข้ารับบริการ  065-949-9550

ร้านตั้งอยู่ที่
อาคารหมายเลข  89/45 ม.3​ ต.บางกรูด​ อ.บ้านโพธิ์​ จ.ฉะเชิงเทรา​  

https://maps.app.goo.gl/VUB5EgTVntLPyGKZ9?g_st=ic

อยู่ติดกับถนนเส้น บางปะกง - ฉะเชิงเทรา
ฝั่งตรงข้าม เมกาโฮม ฉะเชิงเทรา
ใกล้กับร้าน ขนมเปี๊ยะ ซาลาเปา อึ๊งมุ่ยเส็ง สาขาบ้านโพธิ์