การตรวจตาด้วย  Retinoscope  วิธีหาค่าสายตาที่ AI ไม่สามารถทดแทนได้

 


ปัจจุบันเวลาเราต้องการจะไปทำแว่นสักตัวหนึ่ง เราก็จะได้รับการตรวจวัดสายตาด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งแต่ละร้านก็อาจจะมีวิธีที่ แตกต่างกันออกไป  

 

ไม่ว่าจะเป็นการวัดสายตาด้วยเครื่อง Autorefraction เอาคางวางหน้าผากชิดแล้วมองรูปบอลลูนหรือรูปบ้านภาพในเครื่องก็จะจำลองความลึกให้เราได้เห็น ตรวจประมาณ3-4ครั้ง เครื่องก็จะเฉลี่ยค่าสายตาเป็นแผ่นกระดาษออกมาให้  แล้วทำไมมันถึงต้องใช้ค่าเฉลี่ย  ก็เพราะว่าแต่ละครั้งที่เครื่องยิงดูค่าสายตา  ค่าที่ได้แต่ละครั้งจะออกมาแทบไม่เท่ากันเลยสักครั้ง แล้วก็ไม่รู้ว่าครั้งไหนมันคือค่าที่ถูกจริงๆ เพราะมันยังมีปัจจัยต่างๆที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ขณะที่ใช้เครื่องAutorefraction ในการตรวจ นั่นก็คือ การควบคุมระบบ Accommodation การควบคุมแสงสว่าง ภาพที่มองเข้าไปในเครื่อง ถ้าเราโฟกัสในตำแหน่งภาพที่ต่างกัน ค่าสายตาที่ออกมาก็จะต่างกันด้วย  ซึ่งมันก็เป็นข้อเสียอย่างหนึ่งของการใช้เครื่อง Autorefraction  แต่ข้อดีของมันก็คือ ใช้เวลาน้อย ตรวจเร็ว และได้ค่าสายตาคร่าวๆมา

 


บางร้านก็จะใช้วิธีเสียบเลนส์ ให้เลือกค่าสายตาว่าอันที่ 1 กับอันที่ 2 อันไหนมันดีกว่ากัน 
เทียบกันไปเรื่อยๆจนคนไข้รู้สึกว่ามันคงจะชัดพอๆกันแล้วมั้ง  ซึ่งก็ไม่รู้อีกว่า ไอ่ที่คิดว่าชัดมันสามารถชัดได้อีกไหม แล้วไอ่ที่ว่าชัด มันเป็นค่าสายตาจริงๆของเราหรือยังหรือว่ามันชัดเพราะเลนส์แก้วตาของเราช่วยเพ่งให้มันชัด ซึ่งนี่ก็เป็นข้อเสีย  แต่ข้อดีของวิธีการนี้ก็คือ ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์มากมาย มีแค่กระเป๋าเลนส์ทดลองเพียงอันเดียวก็สามารถทำได้แล้ว  หรือบางที่ก็ตรวจด้วยวิธีนี้เช่นกันแต่เปลี่ยนมาเป็นการตรวจบนเครื่อง Phoropter แทนเพื่อให้ดูมีอะไรมากขึ้น   แต่มันก็วิธีการเดียวกัน พูดง่ายๆก็คือ สุ่มหยิบเลนส์มาใส่ให้คนไข้เลือกเอาเองว่าอันไหนมันดีกว่ากันโดยไม่ได้คำนึงถึงระบบ Accommodation 


ส่วนวิธีสุดท้ายนี้เป็นวิธีการที่เริ่มเห็นได้กันมากขึ้น  นั่นคือ การตรวจหาค่าสายตาด้วยเครื่อง Retinoscope หลังจากนั้นก็เข้ากระบวนการตรวจด้วยวิธีแบบ Subjective ต่อไปจนได้ค่าสายตาออกมา เป็นวิธีที่ต้องอาศัยทักษะและการฝึกฝนมากกว่าวิธีการตรวจอื่นๆ ซึ่งในวันนี้จะมาพูดถึงเรื่องของการตรวจด้วยวิธีการทำ Retinoscope ว่ามันตรวจยังไง หลักการมันคืออะไร แล้วทำไมถึงเป็นวิธีที่ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนค่อนข้างนาน

คนไข้ทุกคนที่เคยเข้ารับการตวจกับทางร้าน 100% จะเคยได้พบกับขั้นตอนที่ขิงเปิด Chart ตัวอักษรให้มองซึ่งตัวอักษรที่มองจะค่อนข้างเบลอ หลังจากนั้นจะใช้ไฟส่องเข้าไปในดวงตาแล้วปรับกำลังสายตาใน Phoropter ต่อไป นั่นคือวิธีการตรวจของทางร้าน 


ปกติแล้วขั้นตอนการตรวจวัดสายตาจะมี 2 แบบ  นั่นคือ


1. การตรวจแบบ Objective ซึ่งเป็นการตรวจหาความผิดปกติโดยที่ไม่ต้องอาศัยการถาม-ตอบกับคนไข้ ตัวอย่างเช่น การตรวจ Retinoscope หาค่าสายตา , การทำ Cover test หาตาเขตาเหล่ , การตรวจดูการหดขยายของรูม่านตา เป็นต้น

2. การตรวจแบบ Subjective เป็นการตรวจหาความผิดปกติโดยอาศัยการถามตอบกับคนไข้  ตัวอย่างเช่น การตรวจ Duochrome test เพื่อหา Best Sphere , การหาค่าสายเอียงด้วยวิธี JCC ( Jackson cross cylinder ) , การตรวจหาค่าตาเหล่ซ่อนเร้นและแรงชดเชยของกล้ามเนื้อตา ด้วย Risley Prism เป็นต้น

 


Retinoscope  มีหลอดไฟเป็นแหล่งกำเนิดแสง และมีกระจกเงาที่ทำมุม 45 องศากับแกนของด้ามจับ แสงจากแหล่งกำเนิดแสงจะสะท้อนกับกระจกวิ่งเข้าไปในรูม่านตา ผ่านเข้าไปจนถึงจอตา และอาศัยการสะท้อนกลับจากจอตา ผ่าน media ภายในดวงตากลับออกมาทางรูม่านตาเข้ามาที่ Retinoscope 

 

หากใครที่เคยเห็นภาพถ่ายแล้วเห็นรูม่านตาของคนในภาพเป็นสีแดง นั่นคือแสงสะท้อนที่คล้ายกับการใช้ Retinoscope 
Red eye ที่เห็นเกิดจากตำแหน่งของ Flash อยู่ใกล้กับเลนส์กล้องมากเกินไป  แสงจากแฟลชจะส่องเข้าไปในดวงตาทำให้เกิดเป็น red eye เนื่องจากมุมมองภาพของกล้องอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กับมุมรับแสง  

 

Retinoscope ก็เช่นเดียวกัน … มุมมองของผู้สังเกตุจะอยู่มุมเดียวกับที่แสงออกจากเครื่อง Retinoscpe

 

เมื่อแสงจาก Retinoscope ส่องเข้าดวงตา สะท้อนผ่านจอตาออกมา แสงที่สะท้อนออกมาจากจอตา จะสามารถบอกได้ว่า Movement ของ Reflex หรือการเคลื่อนไหวของแสงเป็นอย่างไร  ซึ่ง movement ของ Reflex จะแตกต่างกันตามปัญหาสายตาของคนไข้
วัตถุประสงค์ของการทำ Retinoscope คือ หยุดการเคลื่อนที่ของ Reflex ที่สะท้อนออกมา  หรือเรียกว่า Neutralizing the reflex โดยใช้เลนส์ที่มีกำลังสายตามาวางด้านหน้าดวงตา

 

Movement ของ Reflex มีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ

 

 

1. Against - movement 
Reflex ของแสงที่สะท้อนออกมาจากจอตาจะเคลื่อนที่ในทิศทาางตรงข้ามกับแนวแสงที่ส่องจาก Retinoscope 
เช่น กวาดแสง retino ไปทางซ้าย Reflex ที่สะท้อนออกมาจะเคลื่อนที่ไปทางขวา
Against - movement จะเกิดขึ้นเมื่อ focal point ตกอยู่ระหว่างดวงตาคนไข้และ Retinoscope
Light rays จะ cross กัน ภาพจะ inverted กับ retinoscope จึงเห็นเป็นแสงทวน ( ทวนทิศกันระหว่าง Reflex แสงจากจอตากับทิศทางการกวาดของ Retinoscope )  จะพบ Reflex ประเภทนี้ในคนที่มีปัญหาสายตาสั้น หรือ Myopia ที่มีจุดโฟกัสตกอยู่ด้านหน้าของจอตา ซึ่งเราจะใส่ เลนส์ - หรือ Minus lens เพื่อดันแสงให้ไปโฟกัสบริเวณจอตา ใส่ minus lens จน Reflex หยุดการเคลื่อนที่


2. With - movement 
Reflex ของแสงที่สะท้อนออกมาจากจอตาจะเคลื่อนที่ในทิศทางเดียวกับแนวแสงที่ส่องจาก Retinoscope 
เช่น กวาดแสง retino ไปทางขวา Reflex ที่สะท้อนออกมาก็เคลื่อนที่ไปทางขวาเช่นกัน
ซึ่ง With - movement จะเกิดขึ้นเมื่อ focal point ตกเลยRetinoscope ทำให้แสงไม่เกิดการ cross กัน ภาพจะไม่ inverted จึงเห็นเป็นแสงตาม ( ตามทิศเดียวกันระหว่าง Reflex แสงจากจอตากับทิศทางการกวาดของ Retinoscope )
จะพบ Reflex ประเภทนี้ในคนที่มีปัญหาสายตายาว หรือ Hyperopia ที่มีจุดโฟกัสตกอยู่ด้านหลังของจอตา ซึ่งเราจะใส่ เลนส์ + หรือ 
Plus lens เพื่อดึงแสงให้กลับมาตกบริเวณจอตอพอดี โดยใส่ plus lens จนกว่า Reflex จะหยุดการเคลื่อนที่

 

3. Neutral 
เป็น Reflex ที่ No Movement ไม่มีการเคลื่อนที่ของแสงสะท้อน แสงไฟจะมีความสว่างและมีขนาดใหญ่
ซึ่ง Reflex แบบ Neutral จะเกิดขึ้นเมื่อ focal point ตกอยู่ที่ retinoscope พอดี จะพบในคนที่มีสายตาปกติหรือ Emmetropia แสงที่เข้าสู่ดวงตาโฟกัสภาพอยู่ที่บริเวณจอตาพอดี 
Reflex แบบ neutral ในคนที่ยังฝึกฝนปฏิบัติน้อยอาจสังเกตุได้ยาก และสับสนได้

 


โดยสิ่งสำคัญในการทำ Retinoscope ที่จะลืมไปไม่ได้เลย นั่นคือ การใส่เลนส์ Working Distance หรือ ระยะห่างจาก Retinoscope ถึงตาคนไข้ เป็นระยะที่ดวงตา focus เมื่อ Reflex กลายเป็น Neutralized ซึ่ง target ที่ให้คนไข้มองควรอยู่ที่ตำแหน่ง 20 ฟุต หรือ 6 เมตร

ระยะห่างระหว่าง Retinoscope ถึง ตาของคนไข้จะอยู่ที่ประมาณ 50 - 60 cm.
ซึ่งค่า Working Distance สามารถหาได้จากสูตร D = 1/F (m)
Power ของ Working Distance จะต่างกันออกไปตามระยะช่วงแขน เนื่องจากในขณะที่มือหนึ่งถือ retinoscope มืออีกข้างจะต้องคอยปรับ Power ของเลนส์ที่ใช้แก้ไข Reflex movement ระยะ Working distance จึงอยู่ที่ประมาณ 1 ช่วงแขน 

 

 

หลังจากทำขั้นตอนการ Retinoscope หาค่าสายตาโดยที่ Reflex อยู่ในจุดที่แสง Neutral แล้ว ต้องเอาค่า Working Distance ออก เพื่อให้คนไข้สามารถมองเห็นชาร์จในระยะ 6 เมตรได้

 

การเปลี่ยนแปลงระยะห่างในการทำRetinoscopeจะทำให้Powerของค่าWorking distance เปลี่ยนไปด้วย หากกำหนดระยะในการทำ Retinoscope ผิด ค่า Power ของ Working Distance ก็ผิด ทีนี้ก็จะมีผลกับค่าสายตาที่จะได้ออกมา อาจจะ Overminus หรือ Underplus ได้ เช่น Retinoscope ตรวจหาค่าสายตารวม Woking distanceได้  +6.00 Diopter มีค่า working distance +2.00 Diopter ค่าสายตาจริงของคนไข้ที่ได้จะอยู่ที่ +4.00 Diopter 

แต่ถ้าหาค่า Working distance ผิด เป็น +1.50  ค่าสายตาของคนไข้ที่ได้จะอยู่ที่  +4.50 ซึ่งเป็นค่าที่ overplus ไป 0.50 Diopter

 

โดยการทำ Retinoscope นั้นจะต้องทำทั้งสองแนวแกนที่ตั้งฉากกัน 90 องศา 
หากทั้งสองแกนใช้กำลังเลนส์ในการ Neutral เท่ากัน แสดงว่าคนไข้มีปัญหาเพียงแค่ Myopia หรือ Hyperopia เท่านั้น แต่ถ้าหากทั้งสองแกน ใช้กำลังในการ Neutral ไม่เท่ากัน แสดงว่าคนไข้มีปัญหาสายตาเอียง

 

 

Retinoscope ยังสามารถสกรีน ความผิดปกติของโรคตาบางโรคได้ด้วย เช่น ต้อกระจก หรือ Cataract , โรคกระจกตาโป่ง หรือ keratoconus , หรือรอยแผลที่กระจกตาได้


จากที่เล่ามาก็เป็นวิธีและหลักการของการตรวจ Retinoscope แบบคร่าวๆ ถ้าจะลงลึกทุกรายละเอียดก็คงจะยาวเกินไป จึงเห็นได้ว่า การตรวจหาปัญหาสายตาด้วย Retinoscope นั้น เป็นวิธีการตรวจที่สามารถเชื่อถือได้มากที่สุด ( ในกรณีที่มีระยะห้องตรวจที่เป็นมาตรฐาน ควบคุมแสงสว่างได้ รวมถึงความเชี่ยวชาญของผู้ตรวจที่สามารถตรวจได้อย่างถูกต้อง ) เนื่องจากมันมีหลักฐานให้เห็นออกมาจาก Reflex จริงๆ ไม่ต้องอาศัยการถามตอบจากคนไข้ โดยไม่ต้องกังวลว่าคนไข้จะโกหกหรือสื่อสารไม่เข้าใจ  และจะมีประโยชน์มากสำหรับคนที่เป็น  สายตายาว หรือ Hyperopia เพราะถ้าไม่ตรวจดูจาก Reflex movement คนไข้ที่เป็นสายตายาวก็สามารถมองเห็นภาพได้ชัดได้โดยอาศัยการเพ่ง แต่มันคงจะดีกว่าถ้าได้รับการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ทำให้การมองเห็นชัดเจนแบบไม่ต้องใช้การเพ่งอยู่ตลอดเวลา


หวังว่าในอนาคตจะมีคนที่สามารถประดิษฐ์อุปกรณ์ฉาย Reflex movement ที่ผู้ตรวจเห็นภายในเครื่อง Retinoscope ออกมาเป็นภาพได้สำเร็จ คงจะเป็นประโยชน์ต่อคนไข้ที่ได้รับการรักษาเป็นอย่างมาก จากการได้รับรู้และเห็นปัญหาสายตาของตัวเองจาก Reflex ที่สะท้อนออกมาจากตาด้วยตาของตัวเอง  ปัญหาการแก้ไขค่าสายตาแบบผิดๆคงลดน้อยลง

 

หวังว่าบทความนี้ คงจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจทั้งคนนอกวิชาชีพ ในวิชาชีพ และเพื่อนร่วมวิชาชีพอยู่บ้างไม่มากก็น้อย 
ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านจนจบ และจะพยายามนำความรู้ดีๆมาแบ่งปันให้กับทุกๆท่านได้อ่านกันต่อไป

 


Content by : Worada Saraburin , O.D.


Ref : Textbook Optics , and retinoscopy , and Refractometry
        Textbook Visual Science and Clinical Optometr
y

 

ให้บริการทุกวันอังคาร - อาทิตย์ เวลา 09.30 - 18.00น. *หยุดทุกวันจันทร์

นัดหมายเพื่อเข้ารับบริการ 065-9499550

ใช้เวลาในการตรวจ 1 - 2 ชั่วโมง
สำหรับคนที่สนใจทำแว่นทางร้านเราใช้เวลาในการส่งฝนและประกอบเลนส์เข้ากรอบประมาณ 10 - 14 วันนะคะ 

ร้านตั้งอยู่ที่
อาคารหมายเลข  89/45 ม.3​ ต.บางกรูด​ อ.บ้านโพธิ์​ จ.ฉะเชิงเทรา​  

https://maps.app.goo.gl/VUB5EgTVntLPyGKZ9?g_st=ic

อยู่ติดกับถนนเส้น บางปะกง - ฉะเชิงเทรา
ฝั่งตรงข้าม เมกาโฮม ฉะเชิงเทรา
ใกล้กับร้าน ขนมเปี๊ยะ ซาลาเปา อึ๊งมุ่ยเส็ง สาขาบ้านโพธิ์

สามารถจอดรถบริเวณหน้าร้านได้เลยค่ะ