Amblyopia ( ตาขี้เกียจ )

 

เนื่องจากหลังจากเปิดร้านได้ไม่นานมานี้  เจอเคสที่คนไข้เป็นตาขี้เกียจ แต่ไม่เคยรู้ตัวมาก่อน และไม่รู้จักคำว่า “ ตาขี้เกียจ “ มาก่อน

บางคนได้ยินครั้งแรกถึงกับขำออกมา แล้วพูดต่อว่า ฉันแน่ๆ ตาฉันมันขี้เกียจจะลืม

 

แท้จริงแล้ว ตาขี้เกียจ ไม่ใช่การขี้เกียจลืมตา แต่มันคือการ “ขี้เกียจพัฒนา” ต่างหาก

 

วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจเรื่อง Amblyopia หรือ ตาขี้เกียจกัน

 

  • ตาขี้เกียจ  คือ ภาวะที่การมองเห็นลดลงกว่าปกติ อาจเป็นเพียงตาเดียวหรือเป็นทั้งสองตาก็ได้  เมื่อแก้ไขด้วยแว่นแล้วความสามารถในการมองเห็นยังคงน้อยกว่า 20/40  หรือ ความสามารถในการมองเห็นของตาทั้ง 2 ข้างต่างกัน 2 บรรทัดเมื่อตรวจวัดจาก Snellen chart โดยการมองเห็นที่ลดลงต้องอยู่ในเงื่อนไขคือ*ต้องไม่มีโรคทางตาใดๆ* มาเกี่ยวข้อง        

พูดง่ายๆก็คือ หากเรามีความผิดปกติที่เป็นโรคทางตา เมื่อเรารักษาโรคนั้นๆเรียบร้อยแล้ว แล้วมาตรวจวัดความสามารถในการมองเห็น ตรวจหาปัญหาสายตา และใช้แว่นตามาช่วยแก้ไขแล้ว  ก็ยังมองไม่เห็นได้ชัดเท่ากับคนปกติ

 

  • • สาเหตุของ Amblyopia หรือ ตาขี้เกียจ

 

มีอะไรมาบดบัง หรือขัดขวางการพัฒนาการของระบบการมองเห็นในช่วงวัยทารกหรือวัยเด็ก ทำให้ระบบการมองเห็นพัฒนาได้ไม่เต็มที่

 

  • • ชนิดของการเกิด  Amblyopia แบ่งตามสาเหตุการเกิด

 

1. Refractive Error : การหักเหแสงในดวงตาที่ผิดปกติ ทำให้เกิดปัญหา สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง

 

       - Isoametropic  = ค่าสายตาของตาทั้ง 2 ข้างที่สูงมากพอๆกัน
เมื่อตาทั้งสองข้างมีค่าสายตาที่มาก ทำให้เกิดภาพเบลอที่บริเวณจอตา แล้วไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อเวลาผ่านไปดวงตาไม่ได้ใช้งาน ทำให้การพัฒนาของระบบการมองเห็นชะลอตัวลง  เป็นสาเหตุของการเป็นตาขี้เกียจทั้งสองข้าง

 

       - Anisometropic = ค่าสายตาของตาทั้ง 2 ข้างต่างกัน
เมื่อตาทั้งสองข้างมีค่าสายตาที่ไม่เท่ากัน  ทำให้ความคมชัดของการมองเห็นภาพต่างกัน ตาข้างที่มีค่าสายตาน้อยกว่าจะเห็นภาพได้ชัดกว่า ส่วนตาอีกข้างนึงที่มีค่าสายตาเยอะกว่าภาพที่เห็นจะเบลอกว่า ถ้าหากไม่ได้รับการแก้ไข ตาข้างที่มองเห็นภาพชัดกว่าจะถูกกระตุ้นให้มีการพัฒนามากกว่าตาข้างที่มองเห็นภาพที่ชัดน้อยกว่า  ในตาข้างที่เห็นภาพชัดน้อยกว่าสมองอาจสั่งให้เกิดการ suppression หรือการตัดสัญญาณภาพให้ไม่สนใจภาพในตาข้างนั้น   ทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจตามมา

 

2. Strabismus : ตำแหน่งตาทั้งสองข้างไม่อยู่ในแนวตรงตามธรรมชาติ  ตาเขตาเหล่

 

เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย คนที่เป็นตาเขตาเหล่ ตาทั้งสองข้างจะเห็นภาพคนละภาพกัน เกิดการรวมภาพไม่ได้ ทำให้เห็นเป็นภาพซ้อน ดังนั้นจึงต้องเลือกตาข้างใดข้างหนึ่งในการมองเพื่อลดการเกิดปัญหาภาพซ้อน ดังนั้นตาข้างที่ไม่ถูกเลือกให้มองจะไม่ได้ทำงาน ทำให้การพัฒนาของระบบการมองเห็นชะลอตัวลง เกิดเป็นตาขี้เกียจได้

 

3. Deprivation : โรคทางตาต่างๆ เช่น ต้อกระจกตั้งแต่กำเนิด หนังตาตก

 

ในตาข้างที่เกิดโรคจะถูกบดบังการมองเห็น การพัฒนาของระบบการมองเห็นจึงถูกขัดขวาง ความรุนแรงของ Amblyopia จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เกิดโรค

 

  • • ช่วงเวลาของการเกิด Amblyopia จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา

 

Critical Period = ช่วงแรกเกิด จนถึงประมาณ 3 ขวบ เป็นช่วงเวลาสั้นๆ และมีความไวต่อการเกิด Amblyopia ได้สูง Amblyopia มีความรุนแรงสูง

Sensitive Period = ช่วงอายุ 3 - 10 ขวบ ระบบการมองเห็นยังไวต่อการเกิด Amblyopia อยู่ แต่ความรุนแรงจะน้อยลง

Plastic Period = ช่วงอายุ 10 ปีขึ้นไป ช่วงนี้จะมีผลต่อการเกิด Amblyopia ลดลง หรือแทบไม่มีผลเลย

การพัฒนาของระบบการมองเห็นจะสำคัญมากตั้งแต่ช่วงแรกเกิด จนถึงอายุประมาณ 6 - 7 ปี หากในช่วงเวลานี้มีอะไรมาบดบัง หรือขัดขวางการมองเห็นก็จะทำให้การมองเห็นพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ทำให้มีการมองเห็นที่ผิดปกติไปตลอดชีวิต

.

  • • วิธีการรักษา

 

1. ใช้แว่นสายตาช่วยแก้ไขสายตาที่ผิดปกติ ให้ตาได้รับภาพที่คมชัดขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้งานในตาข้างที่เป็นตาขี้เกียจ
2. แก้ไขปัญหาตาขาตาเหล่ ด้วยการใช้ Added Lens, Prism หรือการผ่าตัด
3. รักษาโรคทางตาที่เป็นสาเหตุของการบดบังการมองเห็น
4. การปิดตา หรือการใช้ยาหยอด ให้ตาข้างที่ไม่ได้เป็น Amblyopia มัว เพื่อให้ตาข้างที่มีปัญหาได้ใช้งาน โดยวิธีการนี้จะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เพื่อไม่ให้ตาข้างที่ดีอยู่แล้ว เกิดภาวะตาขี้เกียจได้จากการที่ปิดตานานเกินไป

การรักษาจะได้ผลมากถ้าได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาในช่วงอายุ 3-5 ปี หากอายุมากกว่า 8 - 10 ปี การรักษามักจะได้ผลน้อยหรืออาจไม่ได้ผลเลย

 

 อาการที่บ่งบอกของโรคตาขี้เกียจ ไม่สามารถมีอะไรบ่งบอกได้อย่างชัดเจน อาจสังเกตุได้จากเด็กขยี้ตาบ่อยๆ หรือมีการหรี่ตา เพือให้มองชัดขึ้น ซึ่งเป็นอาการที่เกิดในคนที่มีปัญหาสายตาที่ผิดปกติ แต่ไม่จำเป็นที่คนสายตาปกติทุกคนจะต้องเป็นตาขี้เกียจ

ดังนั้นเด็กน้อยในช่วงก่อนเข้าโรงเรียนควรได้รับการตรวจปัญหาสายตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ยิ่งรู้เร็ว ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้เร็ว และมีโอกาสกลับมามองเห็นเป็นปกติได้

สามารถติดตามอ่านตัวอย่างเคสสายตาขี้เกียจได้ที่นี่ค่ะ​ https://www.facebook.com/105251858369014/posts/310070631220468/

 

Content by : Worada Saraburin , O.D.

 

ให้บริการทุกวันอังคาร - อาทิตย์ เวลา 09.30 - 18.00น. *หยุดทุกวันจันทร์

นัดหมายเพื่อเข้ารับบริการ 065-9499550

ใช้เวลาในการตรวจ 1 - 2 ชั่วโมง
สำหรับคนที่สนใจทำแว่นทางร้านเราใช้เวลาในการส่งฝนและประกอบเลนส์เข้ากรอบประมาณ 10 - 14 วันนะคะ 

ร้านตั้งอยู่ที่
อาคารหมายเลข  89/45 ม.3​ ต.บางกรูด​ อ.บ้านโพธิ์​ จ.ฉะเชิงเทรา​  

https://maps.app.goo.gl/VUB5EgTVntLPyGKZ9?g_st=ic

อยู่ติดกับถนนเส้น บางปะกง - ฉะเชิงเทรา
ฝั่งตรงข้าม เมกาโฮม ฉะเชิงเทรา
ใกล้กับร้าน ขนมเปี๊ยะ ซาลาเปา อึ๊งมุ่ยเส็ง สาขาบ้านโพธิ์

สามารถจอดรถบริเวณหน้าร้านได้เลยค่ะ