PROGRESSIVE ADDITION LENSES : ทำไมเลนส์ โปรเกรสซิฟ ถึงใส่ยาก ?

 

 

Progressive lens   เป็นเลนส์ที่หลายคนได้ยินชื่อก็กลัวแล้ว เพราะเคยมีประสบการณ์ทำมา แล้วมันก็ใส่ไม่ได้ วูบวาบ ใส่แล้วจะอ้วกบ้าง ปวดหัวบ้าง  มันจึงเป็นข้อสงสัย สำหรับคนทั่วๆไปว่ามันดีจริงไหม ? บอกว่าชัดทุกระยะแต่ทำไมมันใส่ยากจัง ?

วันนี้ขิงจะมาอธิบายให้ทุกท่านได้ฟังกันว่า เลนส์โปรเกรสซิฟ ที่เขาว่าใส่ยากใส่เย็นกันหนักหนา มันคือเลนส์อะไร ? ใส่ยากเพราะอะไร ? แล้วมันมีวิธีการแก้ปัญหายังไงได้บ้าง ? 

 


เริ่มจากเราต้องเข้าใจกันก่อน ว่าเหรียญ มีสองด้านเสมอ มีกลางคืนก็มีกลางวัน  มีมืดก็มีสว่าง ดังนั้นมีดีก็ต้องมีเสียเช่นกัน  การลงทุนที่เราเสียไปมันดีคุ้มเสียหรือไม่ก็คงต้องชั่งน้ำหนักกันเอา  

 

Progressive addition lenses เป็นเลนส์ชิ้นเดียวที่มีการเปลี่ยนแปลงความโค้งของผิวเลนส์ตามกำลังค่าสายตา เริ่มตั้งแต่โซนที่ใช้มองในระยะไกล ระยะกลางและระยะใกล้ ไล่จากด้านบนลงมาจนถึงด้านล่างของผิวเลนส์ โดยไม่มีเส้นแบ่งรอยต่อมารบกวนการมองเห็น สามารถมองเห็นภาพที่มีความชัดลึกได้ต่อเนืองตั้งแต่โซนมองไกลลงมาจนถึงโซนมองใกล้

โครงสร้างของโปรเกรสซิฟเลนส์  จะมีพื้นที่ใช้งาน แบ่งออกเป็น  3 โซน

Distance : พื้นที่ใช้งานในการมองไกล มีระยะการใช้งานอยู่ที่ 6 เมตร สำหรับทำกิจกรรมทั่วๆไป เช่น ขับรถ ดูทีวี  จะอยู่ส่วนบนของแผ่นเลนส์  

Near : พื้นที่ใช้งานในการมองใกล้ มีระยะการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 30 - 40 ซ.ม. สำหรับการอ่านหนังสือ ดูโทรศัพท์มือถือ หรือทำเอกสารต่างๆ จะอยู่บริเวณส่วนล่างของแผ่นเลนส์ 

Intermediate : พื้นที่ใช้งานในการมองระยะกลาง  อยู่ที่ระยะประมาณ 50 - 80 ซ.ม. สำหรับการใช้งานคอมพิวเตอร์ มองคอนโซลหน้ารถ  จะอยู่บริเวณส่วนกลางของแผ่นเลนส์ เชื่อมต่อระหว่างโซนมองไกลด้านบนและมองใกล้ด้านล่าง จะค่อยๆมีการเปลี่ยนแปลงกำลังสายตาและความโค้งของผิวเลนส์จากตำแหน่งมองไกลจนถึงตำแหน่งมองใกล้  เราสามารถเรียกตำแหน่งนี้ว่า Progressive Zone

 

 

 

โปรเกรสซิฟจึงเป็นเลนส์ที่เหมาะสำหรับแก้ปัญหา ในผู้ที่มีสายตายาวตามอายุ หรือ Presbyopia เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่มันก็ไม่ได้มีเฉพาะเลนส์โปรเกรสซิฟเพียงอย่างเดียว ที่สามารถแก้ไขปัญหา Presbyopia นี้ได้ ยังมี เลนส์ชั้นเดียว หรือ Single Vision , เลนส์สองชั้น หรือ Bifocal ที่เป็นรูปถ้วย ก็สามารถแก้ปัญหาได้ แต่มันก็มีความแตกต่าง ข้อดีข้อเสียในตัวของมันเองเช่นกัน


โครงสร้างพื้นฐานและความแตกต่างของ Single Vision / Bifocal / Trifocal and PROGRESSIVE LENS

 

SINGLE VISION เลนส์ชั้นเดียว 
เป็นเลนส์ที่ใช้แก้ปัญหาได้เพียงระยะเดียวเท่านั้นสำหรับวัยที่มีปัญหาสายตายาวตามอายุ  ต้องเลือกเอาว่าจะใช้มองในระยะไหน ระยะไกล หรือ ระยะใกล้ เพราะเลนส์นี้เป็นส่วนโค้งของทรงกลม 1 ชิ้นที่มีรัศมีความโค้งในทุกๆ Meridian เท่ากันทุกแกน พูดง่ายๆก็คือ มีเพียงกำลังสายตาเดียวเท่านั้นบนแผ่นเลนส์ ( ไม่นับ Aberration ที่มองออกนอก Visual Axis ) 
Single vision จึงให้สนามภาพที่กว้างทั้งแผ่นเลนส์   มีราคาถูก  แต่ความสะดวกต่อการใช้งานจะลดลง เนื่องจากต้องถอด/ใส่ เมื่อต้องการเปลี่ยนระยะการมอง รวมถึงความชัดลึกหรือมิติของภาพก็ลดลงด้วย

 

BIFOCAL เลนส์สองชั้น
จะมีลักษณะเป็นทรงกลมโค้งที่ซ้อนกันอยู่ 2 ชิ้น โดยทั้งสองชิ้นนี้จะมีทั้งกำลังสายตาและความโค้งที่ต่างกัน ชิ้นแรกจะเป็นกำลังสายตาที่ใช้มองในระยะไกล จะวางอยู่ด้านบนของโซนมองใกล้ เนื่องจากเป็นทรงกลมสองชิ้นที่วางซ้อนกันอยู่จึงต้องมีการประสานให้ทั้ง2ชิ้นนี้มันอยู่ติดกัน เกิดเป็นเส้นรอยต่อที่เชื่อมต่อกันของทั้ง 2 ระยะ ซึ่งจะเป็นการแบ่งแยกการมองเห็นของทั้ง 2 ระยะออกจากกันอย่างชัดเจน
เนืองจากBifocal  เป็นเลนส์ที่ใช้แก้ปัญหาได้เพียง 2 ระยะ  นั่นคือระยะไกล และระยะใกล้ จึงทำให้สูญเสียการใช้งานในระยะกลางไป
ราคาจะถูกกว่าเลนส์โปรเกรสซิฟ แต่ความสวยงามจะลดลงเนื่องจากมีเส้นรอยต่อที่ประสานกันของทั้ง 2 ระยะ การใช้งานที่มีความสะดวกน้อยกว่าเลนส์โปรเกรสซิฟ โซนการใช้งานในระยะกลางหายไป รวมถึงต้องพบเจอกับปัญหา Image Jump หรือภาพกระโดด เมื่อมองผ่านตำแหน่งรอยต่อของเลนส์ได้

 

 

TRIFOCAL LENS 
โครงสร้างจะคล้ายๆกับ Bifocal แต่จะมีการเพิ่มทรงกลมชิ้นที่ 3 ที่เชื่อมต่อระหว่างโซนที่ใช้มองไกลและมองใกล้เข้าไป เนื่องจากมีการเพิ่มกำลังสายตาเข้าไปอีก 1 ค่า จึงทำให้เกิดรอยต่อเพิ่มขึ้นอีกในแต่ละตำแหน่งที่ต้องทำการเชื่อมต่อกัน เป็น 2 เส้นรอยต่อ
จึงทำให้เลนส์ไม่สวยงาม ใช้งานได้ลำบากเนื่องจากต้องเจอกับ Image jump ในตำแหน่งของรอยต่อหลายจุด จึงไม่ค่อยมีความนิยมใช้กันในปัจจุบัน

 

 

PROGRESSIVE LENS


โปรเกรสซิฟเลนส์ เป็นเลนส์ที่มีกำลังสายตาหรือมี Power หลาย Power บนแผ่นเลนส์ จึงมีการเปลี่ยนแปลงความโค้งของผิวหน้าเลนส์ตลอดตั้งแต่ตำแหน่งมองไกลไล่ลงไปจนถึงตำแหน่งมองใกล้อย่างค่อยเป็นค่อยไป 

Power 1 Power จะมี Base Curve ที่เหมาะสมอยู่เพียง 1 Base Curve หรือโค้งแต่ละโค้ง  จะเหมาะสมกับ กำลังสายตาเพียง 1 ค่าเท่านั้น

บนแผ่นเลนส์จะมีการไล่ความโค้งไปเรื่อยๆตามค่าสายตาของผู้สวมใส่ โดยมี Cylinder Lens เป็นตัวสมานรอยต่อ

 

 

โปรเกรสซิฟเลนส์ เป็นเลนส์ที่ใช้แก้ปัญหาได้หมดทั้ง 3 ระยะ จะมีการเชื่อมต่อทั้ง 3 โซนเข้าด้วยกันโดยไม่มีเส้นแบ่งหรือรอยต่อบนผิวเลนส์  ทำให้มีความสวยงามมากขึ้น สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องเมื่อมีการเปลี่ยนระยะในการมอง ภาพมีความ Smooth มากขึ้น และไม่ต้องพบกับปัญหา Image jump จากรอยต่อมารบกวน  เลนส์มีความใสทั้งแผ่นคล้ายกับ Single Vision แต่มีพื้นที่การใช้งานแบบจำกัด

โปรเกรสซิฟเลนส์ไม่ได้แก้ไขเพียงแค่ให้ภาพชัดขึ้น แต่เป็นเลนส์ที่คำนึงถึงเรื่องของ Binocular Vision การทำงานร่วมกันของ 2 ตา นั่นคือการเหลือบตาเข้าในการมองใกล้ และการ Accommodation ค่ากำลังการเพ่งมองวัตถุในแต่ละระยะของตาอีกด้วย 

 

ในคนที่เป็น Presbyopia ในระยะแรก อาจจะยังสามารถใช้ Single lens ในการมองระยะกลาง ใกล้ได้อยู่ เนื่องจากยังมีความสามารถในการเพ่งของเลนส์ตาได้อยู่บ้าง  แต่เมื่ออายุเพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อต่างๆที่ทำหน้าที่ควบคุมการเพ่งเริ่มเสื่อมลง  ยืดหยุ่นได้น้อยลง เพ่งไม่ไหว ทำให้มีค่า Addition ( กำลังสายตาที่ช่วยให้สามารถมองเห็นได้อย่างสบายตาที่ระยะ 40 ซ.ม. ) เพิ่มมากขึ้น  โปรเกรสซิฟเลนส์จึงเข้ามาแก้ไขปัญหาตรงนี้ให้สามารถมองเห็นที่ระยะกลาง ใกล้ได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น
การมองผ่าน Progressive lens ยังสามารถที่จะรับรู้ความชัดลึกหรือรับรู้มิติของภาพได้เมื่อมองไปที่ตำแหน่งต่างๆ

 


แล้วเหตุผลอะไร ที่ทำให้  PROGRESSIVE LENS เป็นเลนส์ที่ใส่ยาก ? 

 

สำหรับเลนส์โปรเกรสซิฟ มันจะมีสิ่งหนึ่งที่เราไม่ต้องการมันแต่มันจำเป็นต้องมี นั่นคือ  unwanted Astigmatism error หรือ Cylinder error ที่ทำให้เกิดภาพเบลอ ภาพบิดเบือนด้านข้างไม่พึงประสงค์ ส่งผลให้ขอบเขตการมองเห็นของผู้สวมใส่มีจำกัด ไม่ว่าจะราคาแพงแค่ไหน  ก็ไม่สามารถหนีปัญหานี้ไปได้ 100% 

สิ่งที่ทำให้เกิด  Unwanted Astigmatism มีอะไรบ้าง ?

1. Add Power 
Unwanted Astigmatism จะเพิ่มขึ้น เมื่อค่า Addition เพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก Magnification หรือกำลังขยายไม่เท่ากันทั่วทั้งแผ่นเลนส์ รวมถึงต้องมีการไล่ระดับเปลี่ยนแปลงความโค้งที่เพิ่มมากขึ้น  จึงต้องใช้ Cylinder ในการสมานรอยต่อมากขึ้น  Cylinder ที่ใช้นี้ เป็น Cylinder ที่ไม่ใช่ค่าสายตาของผู้สวมใสแต่หยิบมาใส่เพื่อเชื่อมรอยต่อให้ติดกันเท่านั้น  จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด Unwanted Astigmatism  ดังนั้นคนที่เริ่มใส่เลนส์โปรเกรสซิฟตั้งแต่ยังมีค่า Addition น้อย  จึงสามารถปรับตัวได้ง่ายกว่าคนที่ใส่โปรเกรสซิฟที่มีค่า Addition มากกว่า

2. Length of the Progressive Corridor 
Corridor คือ ระยะทางในการเชื่อมต่อจากจุดระยะมองไกล มาจนถึงจุดมองใกล้ ซึ่งเลนส์โปรเกรสซิฟโครงสร้างโดยทั่วไป ค่ายเลนส์ต่างๆจะมีให้เลือกอยู่ประมาณ 3 Corridor จะยกตัวอย่างในค่าย Roden Stock ใน Progressive B.I.G. NORM จะมีให้เลือกอยู่ 3 Corridor ด้วยกันคือ   S , M , L 
S = short มีความยาว 14 มิลลิเมตรซึ่งถือว่าสั้นที่สุด
M = medium มีความยาวอยู่ที่ 16 มิลลิเมตร
L = Long  มีความยาว 18 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่ายาวที่สุด

ทั้งนี้ทั้งนั้น การเลือก Corridor ไม่ใช่คิดแค่เรื่องการกำจัด Unwanted Astigmatism เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องคำนึงถึงการใช้งานของผู้สวมใส่ว่ามีพฤติกรรม เน้นการใช้สายตาในระยะไหนมากน้อยกว่ากันด้วย

ใน Short Corridor จะมีการเปลี่ยนแปลง Power แบบรวดเร็ว มีระยะในการเหลือบเพื่อมองใกล้สั้น หาตำแหน่งในการอ่านหนังสือได้เร็วและง่ายขึ้น แต่ต้องแลกกับการเจอ Unwanted Astigmatism ที่มากขึ้นด้วย  ทำให้สนามภาพการมองเห็นในระยะกลางแคบลง

ส่วน Corridor ยาวมากขึ้น Unwanted Astigmatism จะน้อยลง เนื่องจาก Power มีการเปลี่ยนแปลงแบบช้าๆ  ระยะกลางจะกว้างมากขึ้นแต่ก็มีข้อแลกเปลี่ยนนั่นก็คือ ผู้สวมใส่จะต้องเหลือบตาลึกมากขึ้นเพื่อให้เจอกับโซนอ่านหนังสือ

 

3. Parameter
สำหรับเลนส์ที่มีโครงสร้างพื้นฐาน จะใช้ค่า Parameter มาตรฐาน คือ ความโค้งหน้าแว่น 5-7 องศา  มุมเทหน้าแว่น 8-9 องศา และระยะห่างระหว่างกระจกตาและเลนส์แว่นตา  12-14 มิลลิเมตร
และในแผ่นเลนส์ 1 แผ่นจะมีตำแหน่งที่เราสามารถใช้งานได้ดีที่สุดเพียงตำแหน่งเดียวนั่นคือ Optical Center ถ้าแนวการมองของตาเรา ไม่ตรงกับตำแหน่ง Optical center ของเลนส์ ก็จะทำให้เกิดแสง Off Axis ทำให้เกิด Aberration หรือภาพบิดเบือนขึ้นมาได้

ดังนั้น หากใช้งานเลนส์โปรเกรสซิฟในโครงสร้างพื้นฐานแล้ว Parameter ไม่เป็นไปตามค่ามาตรฐาน บวกกับการเหลือบตาของผู้สวมใส่ที่คนปกติก็มักจะมีการเหลือบตาไปในทิศทางต่างๆอยู่แล้ว 
ทุกครั้งที่มีการกลอกตา แสดงว่าแนวการมองของตาอยู่ไม่ตรงกับ Optical center  ก็จะทำให้เกิดเป็นมุมในการมองที่ผิดเพี้ยนไป เป็นแสง Off Axis  แล้วเลนส์โปรเกรสซิฟก็ยังมีโครงสร้างที่ซับซ้อนและมีขอบเขตที่จำกัดในการมองของแต่ละระยะอยู่แล้ว มันก็เลยยิ่งเละไปกันใหญ่  จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้สวมใส่พบกับภาพบิดเบือนที่ไม่ต้องการจะเห็นได้

 

4. Base Curve 
ในโครงสร้างของเลนส์โปรเกรสซิฟพื้นฐานจะมีจำนวนของ  Base Curve ที่จำกัด ด้วยต้นทุนการผลิตหัวขัดที่สูง หากจะให้ผลิตหัวขัดมาให้ตรงกับค่าสายตาของคนทุกคนก็คงจะทำได้ยาก
ดังนั้นจึงแก้ปัญหาโดยการใช้ 1 Base Curve  ต่อค่าสายตาเป็นช่วงๆ 
เช่น Base Curve นี้ ใช้งานในช่วงค่าสายตา -1.00 D ถึง -2.00 D เป็นต้น ดังนั้น Optic ที่ดีที่สุดจึงเกิดเฉพาะกับค่าสายตาที่เข้ากับ Base Curve ได้พอดี  ส่วนที่เหลือก็อยู่ในเกณฑ์ที่พอใช้งานได้  พอชัดขึ้น พอมองเห็นได้  ยิ่งในคนที่มีค่าสายตาเอียงมากๆ จะยิ่งมีปัญหาในการใช้งานที่ยากมากขึ้น 


ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ไม่ว่าจะเป็น ค่า Addition , การเลือก Corridor , ค่าพารามิเตอร์ของกรอบแว่น รวมถึงในเรืองของ Bas Curve ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาพบิดเบือนที่เราไม่ต้องการขึ้นมา เป็นผลทำให้ Visual Field หรือสนามภาพของแต่ละระยะแคบลง การกลอกตาสามารถทำได้น้อยลง ถ้ากลอกมากก็จะไปเจอกับภาพบิดเบือนด้านข้าง จึงเป็นคำตอบของคำถามข้างต้นว่า ทำไมเลนส์โปรเกรสซิฟถึงใส่ยาก

 

แล้วมันมีวิธีแก้ไขปัญหาเหล่านี้หรือไม่  ?


ปัจจุบันก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆออกมามากมายเพื่อแก้ปัญหาที่พูดมาด้านบนให้มีน้อยลง อย่างที่ขิงได้บอกไปแล้วว่า Aberration ที่เกิดขึ้นในเลนส์โปรเกรสซิฟเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการ  แต่มันจำเป็นต้องมี  ไม่ว่าเลนส์จะแพงแค่ไหนสิ่งนี้ก็จะไม่หายไป 100% แต่สามารถแก้ไขให้มีน้อยลง  และจัดเก็บให้เป็นระเบียบมากขึ้นได้

วันนี้ขอยกตัวอย่างเทคโนโลยีที่แก้ไขปัญหา Aberration ต่างๆในเลนส์โปรเกรสซิฟ ของ RodenStock  B.I.G. NORM มาให้ทุกท่านให้เห็นภาพว่า   เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างไร 

 

จากเดิมโปรเกรสซิฟโครงสร้างพื้นฐานที่มีการขัดแบบ Conventional หรือการใช้หัวขัดแบบสำเร็จรูปขัดเอา แล้วใช้ Basce Curve ต่อค่าสายตาเป็นช่วงๆ ปัจจุบันก็ได้มีการพัฒนาการสั่งขัด แบบ Freeform Technology สั่งขัดแบบจุดต่อจุดที่ควบคุมการขัดด้วย Software   บนคอมพิวเตอร์ ที่สามารถนำเอาค่าสายตามาคำนวณร่วมกับความโค้งหน้าเลนส์ เพื่อชดเชยปัญหา Base Curve Effect การเลือกใช้งานของ Base Curve มีอิสระมากขึ้น  ทำให้โครงสร้างโปรเกรสซิฟที่ออกมาสมบูรณ์มากขึ้น 

 

  

เลนส์โปรเกรสซิฟแบบดั้งเดิม                                         เลนส์โปรเกรสซิฟจาก Rodenstock

 

สามารถออกแบบ Inset การเยื้องของดวงตาให้เหมาะสมกับการเหลือบมองในระยะกลางใกล้ของแต่ละบุคคลได้  ทำให้มีพื้นที่การใช้งานที่กว้างมากขึ้น
และสามารถนำค่า Addition ค่า PD ของผู้สวมใส่ไปใช้ในการคำนวณออกแบบโครงสร้างโปรเกรสซิฟเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ที่สวมใส่ให้สามารถใช้งานได้เป็นธรรมชาติมากขึ้น

 

  

เลนส์โปรเกรสซิฟแบบดั้งเดิม                                         เลนส์โปรเกรสซิฟจาก Rodenstock


หากต้องการใช้กรอบแว่น ที่มีค่า Parameter นอกเหนือจากค่ามาตรฐาน ทาง Rodenstock เขาก็มีเทคโนโลยี Individual Parameter เป็นเทคโนโลยีการออกแบบโครงสร้างเลนส์โปรเกรสซิฟเฉพาะบุคคล เหมาะสำหรับคนที่ต้องการใช้กรอบแว่นทรงสปอร์ท  หรือมีความโค้งหน้าแว่นมากๆ สามารถนำค่าความโค้งหน้าแว่น มุมเท ระยะห่างของกระจกตาถึงเลนส์แว่นตา ที่อยู่บนหน้าคนไข้มาคำนวณและออกแบบโครงสร้างให้เหมาะสมกับการใช้งานของผู้สวมใส่ได้

 

ซึ่งเทคโนโลยีต่างๆที่ได้กล่าวมานี้ เป็นเทคโนโลยีที่ล้วนแต่มีจุดมุ่งหมายในการแก้ไข  Abberration ที่เกิดขึ้นในเลนส์โปรเกรสซิฟให้เหลือน้อยลง  มีโครงสร้างที่สามารถใช้งานได้กว้างมากขึ้น เพื่อแก้ไขคำถามที่หลายคนสงสัยว่าทำไมโปรเกรสซิฟถึงใส่ยากจัง 

 

ดังนั้นโปรเกรสจึงมีราคาแพงกว่าเลนส์ประเภทอื่นๆ เพราะมีความซับซ้อน รายละเอียดที่มากกว่าเลนส์ชนิดอื่นๆมากเหลือเกิน  รวมถึงต้องใช้เทคโนโลยีหลายอย่างในการคำนวณ  แก้ไข ออกแบบให้เลนส์มีโครงสร้างที่ดีและเหมาะสมกับการใช้งานของผู้สวมใส่ให้มากที่สุด การลงทุนจะคุ้มค่าหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า  เราให้ความสำคัญกับมันมากแค่ไหนมากกว่า หากเราต้องเสียเงินจำนวณหนึ่งเพื่อแลกกับการใช้ชีวิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในหลายๆด้าน  ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพในการทำงาน  ภาพลักษณ์บุคลิกภาพ  การมองเห็นสิ่งต่างๆรอบตัวได้อย่าง Smooth เห็นภาพที่เป็นธรรมชาติ ก็คงจะคุ้มค่ากับการลงทุน   ก็ฝากทุกๆท่านไว้พิจารณา

 

วันนี้ขิงขอลาไปก่อน ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านมาจนจบ  หัวข้อวันนี้ค่อนข้างยาว เพราะมีรายละเอียดค่อนข้างที่จะเยอะ ขิงหวังว่าบทความนี้คงจะเป็นประโยชน์กับท่านที่สนใจ  น้องๆในวิชาชาชีพ  เพื่อนร่วมวิชาชีพทุกๆท่าน ให้ได้เข้าใจในเรื่องนี้กันมากขึ้นไม่มากก็น้อยนะคะ

 

Content by : Worada  Saraburin , O.D. 

Ref : textbook OPHTHALMIC LENSES , Ajay kumar Bhootra 
https://www.rodenstock.com/th/th/big-norm.html

 

 

นัดหมายเข้ารับบริการ  065-949-9550

ร้านตั้งอยู่ที่
อาคารหมายเลข  89/45 ม.3​ ต.บางกรูด​ อ.บ้านโพธิ์​ จ.ฉะเชิงเทรา​  

https://maps.app.goo.gl/VUB5EgTVntLPyGKZ9?g_st=ic

อยู่ติดกับถนนเส้น บางปะกง - ฉะเชิงเทรา
ฝั่งตรงข้าม เมกาโฮม ฉะเชิงเทรา
ใกล้กับร้าน ขนมเปี๊ยะ ซาลาเปา อึ๊งมุ่ยเส็ง สาขาบ้านโพธิ์