PINHOLE  TEST : อุปกรณ์ปิดตารูเข็มทำงานอย่างไร ?

 


ความสามารถในการมองเห็น หรือ Visual Acuity  ทดสอบได้จากการอ่าน Snellen  Chart โดยการแปลผลจะแสดงออกมาให้เราเห็นถึงการเปรียบเทียบระหว่างการมองเห็นของคนสายตาปกติ และการมองเห็นของผู้ถูกทดสอบหรือคนไข้เมื่อมองตัวอักษรที่มีขนาดและระยะการมองที่เท่ากัน   โดยในที่นี้พูดถึงการตรวจโดยใช้ระยะการตรวจ 6 เมตรหรือ 20 ฟุต

 

ยกตัวอย่างเช่น  

การมองชาร์ต  รูปตัว  E  ( VA 20/400 : มีความหมายว่า คนสายตาปกติอ่าน Chart ตัว E ได้ที่ระยะ 400 ฟุต แต่คนไข้มองเห็นได้ที่  20 ฟุต ) ซึ่งเป็นตัวอักษรที่ใหญ่ที่สุดของ Snellen chart  ในการมองชาร์ตตัว E นี้ จะขอแบ่งการมองเห็นออกเป็น  2 กรณี  นั่นคือ
 
กรณีที่ 1  คนที่มีสายตาปกติ หรือ Emmetropia : คนสายตาปกติจะสามารถมองเห็นตัว E นี้ได้ชัดที่ระยะการตรวจ 20 ฟุต หรือ 6 เมตร

กรณีที่ 2 คนที่มีปัญหาสายตา หรือ  Ametropia : จะมองเห็นตัว E ได้หรืออาจจะไม่สามารถมองเห็นได้เลยที่ระยะการตรวจ 20 ฟุตหรือ 6 เมตร ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปริมาณของค่าสายตา 

 

ในคนที่มีค่าสายตามากๆ  มักจะมองไม่เห็น chart ตัว E นี้ในระยะ 20 ฟุต  ซึ่งในคนที่อ่านชาร์ตตัว E ไม่ได้ จะมีค่าสายตาคร่าวๆอยู่ที่ประมาณ 4.00 Diopter หากคนไข้อ่านไม่ได้ จะทดสอบต่อโดยการให้คนไข้ขยับระยะไปด้านหน้าให้ใกล้กับ Chart มากขึ้น จนกว่าคนไข้จะมองเห็นภาพของตัว E และจะแปลผลออกมาได้ว่า ขนาดตัวอักษรที่คนสายตาปกติเห็นได้ที่ 400 ฟุต คนไข้สามารถมองเห็นได้ที่ระยะเท่าไหร่ โดยมีการบันทึกผลการตรวจว่า VA : 20/400@……ระยะที่คนไข้มองเห็นตัว E ….. เช่น 20/400@3m

 

ในคนที่มีค่าสายตาไม่มาก ก็จะยังมองเห็นตัว E เป็นตัว E ได้อยู่  แต่การอ่านได้อยู่ ไม่ได้หมายถึงตัว E นั้นจะมีความคมชัด  จะทดสอบต่อโดยการให้คนไข้อ่าน chart ตัวอักษรที่มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ จนถึงบรรทัดที่คนไข้ไม่สามารถอ่านได้ และจะนำไปเปรียบเทียบกับคนที่มีสายตาปกติ สามารถแปลผลออกมาได้ว่าคนไข้น่าจะมีค่าสายตาคร่าวๆอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่

เช่น คนไข้อ่าน Snellen chart แถว  20/50  ได้เป็นบรรทัดสุดท้ายนั่นแปลว่า ขนาดตัวอักษรบรรทัดนี้ ในคนที่มีสายตาปกติจะสามารถอ่านได้ที่ระยะ 50 ฟุต แต่คนไข้อ่านได้ที่ระยะเพียง 20 ฟุตเท่านั้น โดยค่าสายตาคร่าวๆของคนที่อ่าน VA ได้ถึงบรรทัด 20/50 จะอยู่ที่ประมาณ 1.00 - 1.50 Diopter

 

โดยในคนที่มีสายตาปกติ หรือ Emmetropia จะสามารถอ่าน Snellen chart ได้ถึงบรรทัดที่  20/20 นั่นคือ  คนสายตาปกติอ่านได้ที่ระยะ 20 ฟุต และผู้ถูกทดสอบหรือคนไข้ก็สามารถอ่านตัวอักษรที่บรรทัดนี้ได้ในระยะ 20 ฟุต เช่นกันนั่นก็คือความสามารถในการมองเห็น เทียบเท่าได้กับคนที่มีค่าสายตาปกตินั่นเอง

 

 

ในวันนี้จะมาพูดถึงอุปกรณ์การตรวจชิ้นหนึ่งที่ใช้ควบคู่กันกับการตรวจด้วย Snellen chart  ซึ่งใช้เป็นตัวคัดแยกปัญหาการมองเห็น  ว่ามาจากสาเหตุของการหักเหของแสง Refractive Error หรือ มีสาเหตุมาจากโรคทางตา  อุปกรณ์นั้นเรียกว่า  Pinhole  มีลักษณะเป็นที่ปิดตาแต่มีรูเล็กๆ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 มิลลิเมตร การใช้งานก็คือ ให้คนไข้มอง Snellen chart ผ่านรูเล็กๆนี้ทีละตา ลักษณะของ Pinhole ก็มีอยู่หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบมี 1 รู มีหลายรู หรือจะเป็นFunctionที่อยู่บน Phoropter ก็มีหลักการในการใช้งานเดียวกัน 

 

 

แล้ว Pinhole จะสามารถแยกได้อย่างไรว่าปัญหาการมองเห็นเกิดจาก Refractive Error หรือ Disease ? 

หากปัญหาการมองเห็นเกิดจากการหักเหของแสงภายในดวงตา หรือ Refractive Error ในขั้นตอนการตรวจ Visual Acuity ด้วย Snellen chart แล้วมองผ่าน  Pinhole  
Visual Acuity จะ improve
หรืออ่านได้เพิ่มมากขึ้น เช่น คนไข้อ่าน VA ที่ระยะ 6 เมตรด้วยตาเปล่าได้ที่ บรรทัด 20/40 เมื่อมองผ่าน Pinhole คนไข้อาจจะสามารถอ่านได้ถึงบรรทัดที่ 20/20  

แต่หากมองผ่าน Pinhole แล้วการมองเห็นของคนไข้ยังคงเท่าเดิม ไม่ดีขึ้น ให้สงสัยสาเหตุอาจเกิดจาก Disease โรคทางตา หรือ ปัญหาตาขี้เกียจได้ เนื่องจากโรคบางโรคอาจเกิดความผิดปกติหรือมีสิ่งที่มาขวางกลั้นการเดินทางของแสงไปยังจอตา  การมองผ่าน Pinhole มีผลทำให้ปริมาณแสงที่เข้าตามีปริมาณน้อยลง  ส่งผลให้การมองเห็นไม่ดีขึ้นหรืออาจแย่ลงกว่าเดิมได้

 

ตัวอย่างการมองเห็น

ในภาพ A เป็นการโฟกัสภาพแต่ละจุดของคนสายตาปกติที่ประกอบขึ้นเป็นตัว E  เมื่อมอง Snellen chart ตัว E ที่ระยะ 20 ฟุต หรือ 6 เมตร ได้อย่างคมชัด

ในภาพ B เป็นการโฟกัสภาพแต่ละจุดที่ประกอบขึ้นเป็นตัว E ของคนที่มีปัญหาสายตาสั้น -1.00 Diopter ที่ยังไม่ได้แก้ไขค่าสายตา  มอง Snellen chart ตัว E ที่ระยะ 20 ฟุต หรือ 6 เมตร
เมื่อการโฟกัสภาพของคนไข้ไม่ได้โฟกัสตรงกับจอตาในกรณีมีปัญหาสายตาสั้น แสดงว่าเกิดการโฟกัสภาพบริเวณด้านหน้าของจอตาทำให้เกิดเป็น Blur Circle บริเวณจอตา จึงเห็นภาพเหมือนในภาพ B ซึ่งอ่านได้ แต่ไม่คมชัด

ส่วนในภาพ C เป็นภาพที่เกิดจากการมองผ่าน Pinhole ซึ่งทำให้ขนาดของ Blur circle ที่ประกอบขึ้นเป็นตัว E มีขนาดเล็กลง

 


หลักการของ  Pinhole 

#Note
เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ในวัยสูงอายุรูม่านตา หรือ Pupil จะมีขนาดเล็กลง เราจะเรียกภาวะนี้ว่า Senile miosis ซึ่งเกิดจาก อายุที่เพิ่มขึ้น ในกรณีนี้พูดถึงคนที่มีสายตาปกติ เลนส์แก้วตาจะมีการหนาตัวและขุ่นขึ้น ทำให้ดัชนีหักเหหรือ gradiant index ลดลง ส่งผลให้เกิดเป็น Hyperopic shift 
เมื่อเกิด Hyperopic shift ทำให้คนไข้ต้องมีการ Accommodation อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ภาพกลับมาตกที่บริเวณจอตา จึงมีการส่งสัญญาณไปที่ Cranial Nerve-3 ที่มีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของลูกตา และการหดของรูม่านตา มีการส่งสัญญาณให้ Ciliary muscle หดตัวเพื่อให้เลนส์ป่องในการ Accommodation แต่เนื่องจากอายุเยอะขึ้นการยืดหยุ่นของเลนส์แก้วตาจึงทำได้ไม่ค่อยดีหรือทำไม่ได้เลย กระบวนการ Accommodation จึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้  แต่มันได้รับการส่งสัญญาณมาแล้วว่าให้ Accommodation ตลอดเวลา ดังนั้น รูม่านตาจึงมีการหดตัวอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นที่มาของขนาดรูม่านตา หรือ Pupil จะมีขนาดเล็กลงในวัยสูงอายุ

ซึ่งในกระบวนการนี้ก็ยังคงมีส่วนที่เป็นผลดีอยู่บ้างนั่นก็คือ เมื่อขนาดของ Pupil เล็กลง ทำให้การเกิด Blur Circle บริเวณจอตามีขนาดเล็กลง มีผลทำให้ Visual Acuity ของคนไข้ improve หรือการมองเห็นดีขึ้นเล็กน้อย เราจะเรียกการเกิดกระบวนการนี้ว่า Pinhole effect

 

ซึ่งก็คล้ายกับหลักการของการมองผ่าน Pinhole 

การมองผ่าน Pinhole คือการมองผ่านรูขนาดเล็ก  ซึ่งมีขนาดที่เล็กกว่า รูม่านตาหรือ Pupil ทำให้ขนาดของ Blur Circle บริเวณจอตามีขนาดเล็กลง และมี Depth of focus เพิ่มมากขึ้นด้วย


หรือในบางคนอาจมีพฤติกรรมชอบหรี่ตา  เพื่อเพ่งมองวัตถุให้มีความคมชัดมากขึ้น ซึ่งเป็นอาการที่บ่งบอกถึงความผิดปกติของการมองเห็นที่ควรได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง


สรุปแบบสั้นๆก็คือ  การมองผ่าน Pinhole เป็นการลดขนาดของ Blur Circle บริเวณจอตา และเพิ่ม Depth of focus ทำให้ความสามารถในการมองเห็นของคนไข้ดีขึ้น แต่เราก็ไม่สามารถใช้การมองผ่านรูเข็มมาแก้ไขปัญหาสายตาแทนแว่นสายตาได้เนื่องจากการมองผ่าน Pinhole รูเล็กๆนั้นลานสายตาที่เรามองเห็นจะแคบ ปริมาณของแสงที่เข้าสู่ดวงตาอาจไม่เพียงพอ  เป็นการแก้ไขที่ไม่ตรงจุดต่อการใช้ชีวิต Pinhole จึงเป็นเพียงอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจและวิเคราะห์ปัญหาเพียงเท่านั้น  วิธีแก้ไขค่าสายตาที่ดีที่สุดคือ Correction Refractive error หรือใส่แว่นแก้ไขค่าสายตาที่คนไข้มีเพื่อเปลี่ยนตำแหน่งการโฟกัสของภาพให้กลับมาตกตรงบริเวณจอตาพอดี 


ในวันนี้ขิงขอลาไปก่อน หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจที่ต้องการทราบถึงเหตุผลของการตรวจในขั้นตอนนี้รวมถึงหลักการของการตรวจ และหวังว่าคงจะมีประโยชน์กับเพื่อนร่วมวิชาชีพ น้องๆในวิชาชีพให้ได้ทำความเข้าใจกันเพิ่มมากขึ้น  และจะพยายามมาแบ่งปันความรู้ดีๆที่ได้สั่งสมมาตลอดการเรียนและการทำงานให้ทุกๆคนได้อ่านกันต่อไป

 

 

Content by : Worada Saraburin , O.D.

Ref : Textbook GEOMETRICAL VISUAL OPTICS  
          A Clinical Introduction

 

ให้บริการทุกวันอังคาร - อาทิตย์ เวลา 09.30 - 18.00น. *หยุดทุกวันจันทร์

นัดหมายเพื่อเข้ารับบริการ 065-9499550

ใช้เวลาในการตรวจ 1 - 2 ชั่วโมง
สำหรับคนที่สนใจทำแว่นทางร้านเราใช้เวลาในการส่งฝนและประกอบเลนส์เข้ากรอบประมาณ 10 - 14 วันนะคะ 

ร้านตั้งอยู่ที่
อาคารหมายเลข  89/45 ม.3​ ต.บางกรูด​ อ.บ้านโพธิ์​ จ.ฉะเชิงเทรา​  

https://maps.app.goo.gl/VUB5EgTVntLPyGKZ9?g_st=ic

อยู่ติดกับถนนเส้น บางปะกง - ฉะเชิงเทรา
ฝั่งตรงข้าม เมกาโฮม ฉะเชิงเทรา
ใกล้กับร้าน ขนมเปี๊ยะ ซาลาเปา อึ๊งมุ่ยเส็ง สาขาบ้านโพธิ์

สามารถจอดรถบริเวณหน้าร้านได้เลยค่ะ