CONTACT LENS AND SPECTACLES ความแตกต่างของคอนแทคเลนส์และแว่นตา

 

 

ในการแก้ไขความผิดปกติของการมองเห็นนั้น ปัจจุบันมีทางเลือกในการแก้ไขอยู่หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การใช้แว่นตา การใช้คอนแทคเลนส์ จนไปถึงการผ่าตัดเพื่อรักษา โดยแต่ละวิธีนั้น ก็จะมีความเหมาะสมกับเคสแต่ละเคสที่แตกต่างกันไป ในวันนี้ขอมาพูดถึงเพียงเรื่องของแว่นตาและคอนแทคเลนส์ ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของทัศนมาตร ที่จะต้องรู้และสามารถแนะนำให้กับคนไข้ได้เข้าใจถึงความแตกต่างของการใช้งานระหว่างแว่นตากับคอนแทคเลนส์ได้

 

แว่นและคอนแทคเลนส์ ล้วนมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป ในบทความนี้ ตั้งใจมาเขียนอธิบายถึงความแตกต่างของการใช้แว่นตาและคอนแทคเลนส์แบบละเอียดให้กับทุกคนได้อ่านกัน สิ่งสำคัญที่ควรรู้และควรทำความเข้าใจ มีอยู่ทั้งหมด 8 ข้อด้วยกัน คือ

 

• Field of view : ขอบเขตการมองเห็น

• Image magnification : ขนาดของภาพ

• Optical aberrations : ภาพบิดเบือนด้านข้าง

• Diplopia and binocular vision : ภาพซ้อนที่เกิดจากขนาดภาพต่างกัน

• Prismatic effect : ผลกระทบของปริซึม

• Accommodation : การเพ่ง

• Cosmetic : ความสวยงาม

• Care : การดูแลรักษา

 

เราจะมาทำความเข้าใจกันทีละหัวข้อไปพร้อมๆกัน

 

  • • Field of view : ขอบเขตการมองเห็น

Contact lens : ไม่จำกัดขอบเขตการมองเห็น เนื่องจากแผ่นของ Contact lens จะแนบติดไปกับดวงตาในขณะที่มีการกลอกตาหรือมองไปยังตำแหน่งต่างๆ Contact lens ก็จะเคลื่อนที่ตามไปด้วย ทำให้มีขอบเขตการมองเห็นที่กว้าง

 

Spectacles : เลนส์แว่นตาจะมีตำแหน่งบริเวณ Optical Center เมื่อมองผ่านแล้วจะเป็นค่าสายตาของเราจริงๆและไม่มี Aberration หรือภาพบิดเบือนต่างๆมารบกวน แต่ถ้าเรามองผ่านตำแหน่งนอกเหนือจากบริเวณ Optical Center นี้ก็จะพบกับ Aberration ตามมา เนื่องจากแว่นตา จะมีระยะห่างระหว่างกระจกตาและแผ่นเลนส์ อยู่ที่ประมาณ 13 มิลลิเมตร แผ่นเลนส์วางอยู่ด้านหน้าดวงตาในตำแหน่งเดิม ในขณะที่มีการกลอกตาและมองไปยังตำแหน่งต่างๆเพียงไม่กี่องศา ก็อาจทำให้ตำแหน่งการมองหลุดออกจากตำแหน่ง Optical Center ทำให้ง่ายต่อการเจอกับ Aberration หรือภาพบิดเบือนที่เกิดจากโครงสร้างของเลนส์ได้ ขอบเขตการมองเห็นจึงน้อยกว่าการใช้ Contact Lens

 

อย่างไรก็ตามการใส่ CL ขนาดที่ไม่พอดีหรือเลือกใช้ Base curve ที่ไม่พอดีกับดวงตาก็มีผลทำให้การมองเห็นลดลง รวมถึงการใช้คอนแทคเลนส์แบบแข็งหรือ หรือ Rigid Contact Lens ที่มีขนาดเล็ก มีผลทำให้เกิด Glare หรือแสงสะท้อนที่เกิดจากการหักเหแสงบริเวณขอบของเลนส์ได้

 

  • • Image magnification : ขนาดของภาพ

 

ขนาดของภาพที่เห็นผ่านคอนแทคเลนส์จะมีความใกล้เคียงกับขนาดของวัตถุจริงมากกว่าการมองผ่านเลนส์แว่นตา

 

เนื่องจากคอนแทคเลนส์มี Vertex Distance หรือระยะห่างของกระจกตากับเลนส์ ที่เป็น 0

ส่วนแว่นตามี Vertex Distance หรือระยะห่างของกระจกตากับเลนส์อยู่ที่ประมาณ 13 มิลลิเมตร รวมถึงการหักเหของแสงผ่านวัสดุที่ใช้ทำเลนส์

จึงทำให้ในคนที่เป็นสายตาสั้น เมื่อมองผ่านเลนส์เว้าที่ใช้แก้ไขค่าสายตานั้น จะมีผลทำให้ภาพที่เห็นมีขนาดเล็กลงกว่าขนาดจริง และในคนที่เป็นสายตายาว เมื่อมองผ่านเลนส์นูนที่ใช้แก้ไขค่าสายตายาวนั้น จะมองเห็นภาพที่มีขนาดใหญ่กว่าขนาดจริง

 

ดังนั้นคนที่เปลี่ยนจากการใส่แว่น มาเป็น คอนแทคเลนส์ ในคนที่มีปัญหาสายตาสั้น จะรู้สึกว่าภาพมีขนาดใหญ่ขึ้น และในคนที่มีปัญหาสายตายาวใส่คอนแทคเลนส์แล้วจะรู้สึกว่าภาพมีขนาดเล็กลงกว่าปกติ

 

 

หลายๆคนอาจยังไม่เห็นภาพว่า ระยะห่างของกระจกตากับเลนส์ตา หรือ Vertex Distance มันจะมีผลอะไรกับการจ่ายค่าสายตาในการทำแว่นและคอนแทคเลนส์บ้าง วันนี้เลยขอยกสูตรคำนวณให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของค่ากำลังสายตากับ Vertex Distance มาให้ทุกคนได้ลองทำความเข้าใจดูกัน

  • •  กำลังค่าสายตาของเลนส์จะมีค่าที่แตกต่างกันไปตามระยะห่างของเลนส์และกระจกตา ตามสูตร

 

  • Fe = F / 1 - dF
  •  
  • d = ระยะห่างของเลนส์ตาและกระจกตาที่เปลี่ยนแปลงไป
  • เลนส์จะมีความเป็น + มากขึ้นเมื่อเคลื่อนที่ใกล้กับกระจกตา และจะมีความเป็น - มากขึ้นเมื่อเคลื่อนที่ห่างจากกระจกตา

 

ดังตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นภาพกันดังนี้

 

คนไข้ต้องการเลนส์ที่มีกำลังค่าสายตา -6.00 Diopter ในระยะห่างระหว่างเลนส์และกระจกตา 15 มิลลิเมตร แต่เลนส์ถูกวางอยู่ในกรอบที่มีระยะห่างของเลนส์และกระจกตาอยู่ที่ 10 มิลลิเมตร

เมื่อเลนส์มีการเลือนตำแหน่ง 5 มิลลิเมตร กำลังค่าสายตาจะเปลี่ยนแปลงไป ดังนี้

  • Fe = F/1-dF
  •      = (-6 ) / 1-(0.005)(-6)
  •      = 5.83 Diopter

สรุปได้ว่า ระยะห่างของเลนส์และกระจกตาอยู่ที่ 15 มิลลิเมตร คนไข้ต้องการกำลังเลนส์-6.00 Diopter เพื่อแก้ไขค่าสายตา เมื่อระยะห่างของเลนส์และกระจกตาลดลงเหลือ 10 มิลลิเมตร คนไข้จะต้องการกำลังเลนส์ลดลงหลือเพียง -5.83 Diopter

 

เช่นเดียวกับในเลนส์บวกที่ใช้แก้ไขปัญหาในคนที่มีสายตายาว

 

คนไข้ต้องการเลนส์ที่มีกำลังค่าสายตา + 6.00 Diopter ในระยะห่างระหว่างเลนส์และกระจกตา 15 มิลลิเมตร แต่เลนส์ถูกวางอยู่ในกรอบที่มีระยะห่างของเลนส์และกระจกตาอยู่ที่ 10 มิลลิเมตร

เมื่อเลนส์มีการเลือนตำแหน่ง 5 มิลลิเมตร กำลังค่าสายตาจะเปลี่ยนแปลงไป ดังนี้

  • Fe = F/1-dF
  •      = (+6 ) / 1-(0.005)(+6)
  •      = 6.19 Diopter

สรุปได้ว่า ระยะห่างของเลนส์และกระจกตาอยู่ที่ 15 มิลลิเมตร คนไข้ต้องการกำลังเลนส์+6.00 Diopter เพื่อแก้ไขค่าสายตา เมื่อระยะห่างของเลนส์และกระจกตาลดลงเหลือ 10 มิลลิเมตร คนไข้จะต้องการกำลังเลนส์เพิ่มขึ้นเป็น +6.19 Diopter

 

ซึ่งเป็นที่มาของ กำลังค่าสายตาที่ใช้ในแว่นตาและคอนแทคเลนส์จึงไม่เท่ากัน เนื่องจากคอนแทคเลนส์มี Vertex Distance = 0 แต่แว่นตาจะมี Vertex Distance อยู่ที่ประมาณ 13 มิลลิเมตร

 

ดังนั้นหากมองข้ามเรื่องของ Vertex Distance หรือระยะห่างระหว่างเลนส์และกระจกตาไป กำลังเลนส์ที่ใช้แก้ไขค่าสายตาของคนไข้ อาจไม่ใช่ค่าที่ถูกต้องและมีผลกระทบตามมาได้

 

  • • Optical aberrations: ภาพบิดเบือนด้านข้าง

 

ในคนที่ใช้ Contact Lens จะไม่ค่อยพบกับปัญหา Aberration หรือภาพบิดเบือน เนื่องจากแผ่นของคอนแทคเลนส์นั้นจะแนบติดไปกับกระจกตาทำให้มีการมองผ่านบริเวณ Center เสมอจึงไม่เกิดปัญหาในการมองผ่านบริเวณขอบของเลนส์

 

แต่ในคนที่ใช้แว่นตา แผ่นเลนส์แว่นตาไม่สามารถ Move ไปตามการกลอกตาเหมือนคอนแทคเลนส์ได้ ทำให้ขณะที่คนไข้มีการกลอกตามองวัตถุ เกิดการโฟกัสภาพที่ไม่ตรงกับตำแหน่ง Optical center จึงเห็นเป็น Aberration หรือภาพบิดเบือนต่างๆได้

 

  • • Diplopia and binocular vision: ภาพซ้อนที่เกิดจากขนาดภาพต่างกัน

 

คอนแทคเลนส์ช่วยลดปัญหาภาพซ้อนและปัญหา Binocular vision ในคนที่มีปัญหาค่าสายตาของตาทั้งสองข้างแตกต่างกัน หรือ Anisometropia เนื่องจากการมองภาพผ่านคอนแทคเลนส์จะทำให้มองเห็นภาพที่มีขนาดคล้ายกับขนาดของวัตถุจริง ทำให้ความแตกต่างของขนาดภาพน้อยลง

 

  • • Prismatic effect: ผลกระทบของปริซึม

 

Concave Lens หรือเลนส์เว้าที่ช่วยแก้ไขปัญหาสายตาสั้น จะมีลักษณะคล้ายกับการเอายอดหรือ Apex ของปริซึมมาต่อกัน

Convex Lens หรือเลนส์นูนที่ช่วยแก้ไขปัญหาสายตายาว จะมีลักษณะคล้ายกับการเอาฐานหรือ Base ของปริซึมมาต่อกัน

 

 

สำหรับคนที่ใส่แว่นตา ถ้าตำแหน่งตาของเราตรงกับตำแหน่งของ Optical center ของเลนส์เราจะมองอยู่ในตำแหน่งที่ค่าปริซึม เท่ากับ ศูนย์

แต่เมื่อ Optical center ไม่ตรงกับตำแหน่งตาดำ ทำให้ภาพที่เรามองเห็นเหมือนกับการมองผ่านปริซึมนั่นเรียกว่า Prism effect สามารถอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ https://voradaoptometry.com/faq/detail/12

ซึ่งปัญหานี้จะไม่เกิดกับคนไข้ที่ใช้คอนแทคเลนส์เนื่องจากคอนแทคเลนส์จะ move ไปตามการกลอกตาจึงสามารถมองเห็นภาพผ่านบริเวณ center ของเลนส์เสมอ

 

        ในคนไข้สายตาสั้นที่ใส่แว่น เมื่อตาเหลือบมองในระยะที่ใกล้มากขึ้นทำให้ดวงตามองผ่านเลนส์บริเวณที่มี Prism Base In ซึ่งมีผลกระตุ้นให้ตาเกิดการ Divergence หรือการเหลือบตาออก และ Relaxaccommodation

       ในคนไข้สายตายาว ( Hyperopia ) ที่ใส่แว่น เมื่อเหลือบตามองวัตถุในระยะใกล้จะทำให้ดวงตามองผ่านบริเวณที่เป็น Prism Base Out ซึ่งมีผลกระตุ้นให้ตาเกิดการ Convergence หรือการเหลือบตาเข้า และ การ Accommodation

โดยจะพูดรายละเอียดในหัวข้อถัดไป

 

  • • Accommodation: การเพ่ง

 

ในคนไข้ที่เคยใส่แว่นและเปลี่ยนมาใส่คอนแทคเลนส์ หรือเคยใส่คอนแทคเลนส์เป็นปกติแต่ต้องการเปลี่ยนมาใส่แว่นตา การ Accommodation และ การ Convergence หรือเหลือบตาเข้าจะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบเล็กน้อยหรือมากพอที่จะก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ได้

ในคนปกติเมื่อต้องมองวัตถุในระยะใกล้ ดวงตาจะมีกลไกการ Accommodation และ Convergence หรือเหลือบตาเข้าทุกครั้งที่เราเปลี่ยนระยะการมองที่ใกล้ขึ้น

วัตถุเคลื่อนที่เข้าใกล้ = เกิดการ Accmmodation = เกิดการ Convergence พร้อมๆกันด้วย

ซึ่งทุกครั้งที่เกิด Divergence ก็จะเกิดการ Relaxaccommodation คู่กันไปด้วยเช่นกัน

 

 

คนไข้สายตาสั้นที่สวมแว่น แล้วมองวัตถุในระยะใกล้ ดวงตาจะได้รับผลกระทบจากการมองผ่าน Prism Base IN ที่มีผลในการกระตุ้น Divergence และ Relaxaccommodation ทำให้ตามีการ Accommodation และ Convergence น้อยลง

 

ดังนั้นในคนสายตาสั้นที่มีปัญหา Presbyopia ที่ความสามารถในการเพ่งของเลนส์ตาน้อยลง เวลาใส่แว่นจะรู้สึกสบายตามากกว่าการใส่คอนแทคเลนส์ เนื่องจากการใส่คอนแทคเลนส์จะไม่มีผลจากการช่วยลดการเพ่งจาก Prism Base IN คนไข้จะรู้สึกว่าต้องเพ่งมากกว่าและเกิดปัญหา Asthenopia ตามมาได้

 

คนไข้สายตาสั้นที่มีปัญหา Exophoria หรือตาเขออกซ่อนเร้นที่ระยะใกล้อยู่แล้ว เมื่อมองผ่าน Prism Base IN จึงเหมือนเป็นการแก้ไขปัญหาโดยการใส่ Pism Base In เพื่อเลื่อนภาพให้ไปตรงกับตำแหน่งตาของคนไข้ ตำแหน่งตาเดิมของไข้มีการเขออกด้านนอก เมื่อมองผ่าน Prism Base In จะมีการเลือนภาพให้ออกไปด้านนอกเช่นกัน ปัญหา Exophoria ในระยะใกล้นั้นจึงลดลง รวมถึงความต้องการแรงชดเชยในการดึงตาเข้าหรือ Positive Fusional Vergence นั้นลดลงด้วย ปัญหา Phoria ที่มีก็จะน้อยลง

 

ส่วนในคนสายตาสั้นที่มีปัญหา Esophoria หรือตาเขเข้าซ่อนเร้นที่ระยะใกล้ ตำแหน่งตาเดิมของคนไข้จะมีการเขเข้าด้านใน เมือมองผ่าน Prism Base In ภาพจะเปลี่ยนตำแหน่งเลื่อนออกด้านนอก จึงต้องใช้แรงในการดึงตาออก หรือ Negative Fusional Vergence เพื่อรวมภาพมากขึ้นกว่าเดิม ปัญหา Esophoria จึงเพิ่มขึ้น

 

ทำนองเดียวกัน

ในคนที่มีปัญหาสายตายาว หรือ Hyperopia แล้วสวมแว่น เมื่อมองวัตถุในระยะใกล้ ดวงตาจะมองผ่านตำแหน่งที่เป็น Prism Base Out

มีผลทำให้เกิดการกระตุ้นการทำงานของ Accommodation และ การ Convergence ทำให้ดวงตาต้องทำการ Accommodation และ convergence เพิ่มมากขึ้น

 

ในส่วนของคนสายตายาวที่มีปัญหา Esophoria หรือตาเขเข้าซ่อนเร้นที่ระยะใกล้ เมื่อเจอกับ Prism Base Out ก็จะเหมือนเป็นการแก้ไข โดยการเลื่อนภาพเข้ามาให้ตรงกับตำแหน่งตาของคนไข้ ปัญหา Esophoria ที่ระยะใกล้ของคนไข้จึงลดลง

 

ในทางกลับกัน หากคนไข้สายตายาวมีปัญหา Exophoria หรือตาเขออกซ่อนเร้นในระยะใกล้ เมื่อได้รับผลจาก Prism Base Out ปัญหา Exophoria ก็จะมีปัญหาเพื่มขึ้นด้วย เนื่องจากแต่เดิมตำแหน่งตาของคนไข้เขออกด้านนอก แต่ Prism effect ทำให้ภาพเลื่อนเข้ามาด้านใน ทำให้ต้องใช้แรงในการดึงตาเข้า หรือ Positive Fusional Verence ที่มากขึ้นเพื่อรวมภาพ จึงทำให้เกิดปัญหาที่มากขึ้น

 

ในคนที่มีสายตายาว แล้วมีปัญหา Presbyopia ร่วมด้วย เมื่อมองใกล้จะรู้สึกว่า ใส่คอนแทคเลนส์จะรู้สึกสบายตากว่าการใส่แว่นตา เนื่องจากไม่มีปัญหาที่เกิดจากการมองผ่าน Prism Base Out ที่กระตุ้นการทำงานของ Accommodation และ Convergence คนไข้จึงรู้สึกว่าเพ่งน้อยกว่า และสบายตากว่า

 

  • • Cosmetic: ความสวยงาม
  •  

คอนแทคเลนส์ ช่วยเพิ่มความสวยงามและความมั่นใจให้กับคนที่มีค่าสายตาสูงๆ เนื่องจากในคนที่มีค่าสายตาสูงๆ เลนส์ในการทำแว่นตาจะมีความหนาและหนักกว่า ทำให้มีผลในเรื่องของความสวยงามและบุคลิกภาพได้

 

  • • Care : การดูแลรักษา
  •  

Contact Lens : มีการดูแลรักษาที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนมากกว่าแว่นตามาก เนื่องจากคอนแทคเลนส์จะแนบติดอยู่ในดวงตา ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ กระจกเป็นแผลและอักเสบได้ ดังนั้นการดูแลรักษาจะต้องคำนึงถึงในเรื่องของความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงระยะเวลาในการใส่ไม่ควรใส่นอนและใส่นานเกิน 8 - 9 ชั่วโมง

 

Glasses : การดูแลรักษาแว่นตาจะง่ายกว่าคอนแทคเลนส์ และใส่ได้ไม่จำกัดระยะเวลา เนื่องจากแว่นตาอยู่นอกดวงตาจึงไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่างๆ ดูแลรักษาโดยใช้วิธีล้างทำความสะอาดด้วยซันไลท์ เช็ดให้แห้ง ไม่ควรวางไว้ในบริเวณที่อุณหภูมิสูงนานๆ และใช้งานอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้กรอบและเลนส์ได้รับความเสียหาย

 

 

ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านมาจนจบ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเกิดประโยชน์แก่ผู้อ่านและผู้สนใจไม่มากก็น้อย

 

Content by : Worada Saraburin , O.D.

Ref : Textbook of Visual Science and Clinical Optometry

Theodore Grosveno Primary Care Optometry 

 

ให้บริการทุกวันอังคาร - อาทิตย์ เวลา 09.30 - 18.00น. *หยุดทุกวันจันทร์

นัดหมายเพื่อเข้ารับบริการ 065-9499550

ใช้เวลาในการตรวจ 1 - 2 ชั่วโมง
สำหรับคนที่สนใจทำแว่นทางร้านเราใช้เวลาในการส่งฝนและประกอบเลนส์เข้ากรอบประมาณ 10 - 14 วันนะคะ 

ร้านตั้งอยู่ที่
อาคารหมายเลข  89/45 ม.3​ ต.บางกรูด​ อ.บ้านโพธิ์​ จ.ฉะเชิงเทรา​  

https://maps.app.goo.gl/VUB5EgTVntLPyGKZ9?g_st=ic

อยู่ติดกับถนนเส้น บางปะกง - ฉะเชิงเทรา
ฝั่งตรงข้าม เมกาโฮม ฉะเชิงเทรา
ใกล้กับร้าน ขนมเปี๊ยะ ซาลาเปา อึ๊งมุ่ยเส็ง สาขาบ้านโพธิ์

สามารถจอดรถบริเวณหน้าร้านได้เลยค่ะ