Case Study : ชีวิตเปลี่ยน จากการแก้ไขสายตาเอียง ชนิด Compound Myopic Astigmatism 

 


ปัญหาสายตาเอียง เป็นปัญหาที่พบได้ในคนไข้แทบทุกคน ซึ่งเป็นส่วนน้อยมากที่จะตรวจแล้วไม่พบ 
สายตาเอียงไม่ได้เกิดจากการนอนตะแคงเล่นโทรศัพท์   อาการแสดงก็ไม่ใช่การเขียนหนังสือแล้วไม่ตรงแถว  เอียงหัวเวลาใช้สายตาทำงาน  หรือขีดเส้นตรงแล้วขีดออกมาเอียง คนที่มีอาการเหล่านี้ก็คิดว่าตัวเองเป็นสายตาเอียง ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดไป

 

การใช้เลนส์ในการแก้ไขปัญหาสายตาเอียง บางร้านอาจดูเป็นเรื่องที่ยุ่งยากหรือน่ากลัวจนไม่กล้าจ่าย  เพราะต้องใช้เวลาให้สมองได้เรียนรู้ภาพใหม่ ยิ่งมีค่าสายตาเอียงเยอะ ก็ต้องใช้ความพยายามในการปรับตัวมากกว่าคนที่มีสายตาเอียงน้อย  จึงเป็นเหตุผลที่บางร้านจะตัดเรื่องนี้ทิ้งไปเพื่อลดปัญหาและความวุ่นวายในการดูแลและแนะนำคนไข้   ถึงกับบอกกับคนไข้ว่าตัดแว่นที่มีสายตาเอียงไปก็ใส่ไม่ได้หรอก  ก็เลยตัดเอียงทิ้ง แล้วจ่ายแต่ค่าไม่สั้นก็ยาวแทน  ไม่ได้สนใจการมองเห็นของคนไข้ว่าดีขึ้นได้แค่ไหน คิดแค่ต้องทำแว่นที่คนไข้ใส่แล้วรู้สึกชัดขึ้นมานิดหน่อยก็พอ  

ทีนี้คนไข้ก็ไม่รู้ คิดว่าภาพที่เค้าใส่แว่นอันนั้นอยู่คือภาพที่ชัดที่สุดของเค้าแล้วเพราะแว่นที่ใส่มันรู้สึกชัดขึ้น   ถามว่า ชัดขึ้นแล้วมันถูกหรือยัง   แล้วที่คิดว่ามันชัดขึ้นมันสามารถชัดขึ้นได้อีกไหม   พอใช้ไปนานๆปัญหาก็เริ่มเกิด ใส่แว่นก็ยังปวดตาเหมือนเดิม ก็ตัดใหม่ไปเรื่อยๆก็ยังใส่ไม่ได้  ทีนี้ก็เลยไม่อยากใส่ 

 

นี่คือที่มา ของการเขียนบทความนี้ขึ้นมาจากเคสของคนไข้คนหนึ่ง ที่หลังจากได้รับการแก้ไขปัญหาสายตาทั้งสั้นและเอียงที่ตัวเองมีอยู่   เมื่อได้ใช้แว่นก็พูดกับขิงว่า " พี่ไม่เคยรู้เลยว่าโลกของพี่มันสามารถมองเห็นได้ชัดขนาดนี้มาก่อน " เมื่อได้ยินคำพูดของคนไข้ก็รู้สึกขอบคุณ และรู้สึกสงสัยว่าทำไมหนอ พี่เขาตะเวนตัดแว่นใช้มา 40 กว่าปี ถึงไม่มีคนแก้ไขปัญหาให้เขาเลย

วันนี้ขิงเลยอยากมาให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาสายตาเอียงผ่านเคสของพี่คนไข้คนนี้ เพื่อหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกๆท่านไม่มากก็น้อย


สายตาเอียง หรือ Astigmatismกิดจากความโค้งของ Media ในตาเราที่มีผลต่อการหักเหของแสง คือ กระจกตา  และเลนส์แก้วตามีความโค้งในแต่ละแกนไม่เท่ากัน  มีผลทำให้เมือแสงผ่านเข้าไปจึงมีกำลังหักเหที่ไม่เท่ากันในแต่ละแกน   อาการแสดงที่เราสามารถสังเกตุได้ด้วยตัวเอง นั่นก็คือ  มองวัตถุหรือตัวอักษรแล้วเห็นเป็นเงาซ้อนสีเทาๆเมื่อเปิดตาทีละข้าง , เวลาจะมองอะไรก็ต้องหรี่ตาแล้วภาพถึงจะชัดขึ้น หรือเห็นแสงไฟแตกฟุ้งในเวลากลางคืน ซึ่งสามารถแก้ไขโดยใช้เลนส์ที่เรียกว่า  Spherocylindrical Lenses

 

 

ภาพทางด้านซ้ายมือ คือ Spherical Lens แสดงให้เห็นถึง Power ของเลนส์จะเท่ากันหมดในทุกๆแกน  มีลักษณะคล้ายรูปทรงกลม เป็นเลนส์ที่แก้ไขเฉพาะปัญหาสายตาสั้น และ สายตายาว

ภาพทางด้านขวา คือ Cylindrical lens แสดงให้เห็นว่า Power ของแต่ละแกนไม่ว่าจะเป็นแนวตั้งหรือแนวนอนจะไม่เท่ากัน ซึ่งจะมีแกนหนึ่งมีค่าเป็น 0 และอีกแกนหนึ่งจะมีกำลังของค่าสายตาเอียงหรือ Cylinder 
Cylindrical lens สามารถแก้ไขได้เพียง 1 แกนเท่านั้น ในขณะที่อีกแกนหนึ่งที่ตั้งฉากกันจะไม่มี Power หรือมีค่าเป็น 0

 


Spherical and Cylindrical Power เมื่อนำมารวมกันจะเรียกว่า  Spherocylindrical Lens 

Spherocylindrical Lens จะมี Power ที่ไม่เท่ากันทุกแกน  จะมีแกนหนึ่งที่มี Power ที่มากหรือ maximum และมีอีกแกนหนึ่งที่มี Power ที่น้อยหรือ minimum ซึ่งจะตั้งฉากกัน 

 


คนที่มีปัญหาสาตาเอียง หรือ Astigmatism ภาพจะไม่ได้โฟกัสเป็น จุด หรือ point ที่บริเวณจอตา แต่จะโฟกัสเป็น เส้น หรือ focal line แทน   ภาพจาก Vertical meridian จะโฟกัสที่ตำแหน่งหนึ่ง และภาพจาก Horizontal meidian ก็จะโฟกัสอีกตำแหน่งหนึ่ง 

ภาพจาก vertical meridian จะเกิดเป็น focal line ในแนวนอน 
ภาพจาก horizontal meridian จะเกิดเป็น focal line ในแนวตั้ง 

 


จากภาพเราจะเริ่มมาดูทีละแกน 

+3.00 Diopter คือ  Horizontal meridian ตัวอย่างในภาพจะไปโฟกัสที่ระยะ 33.33 cm. จากตำแหน่งของเลนส์ตำแหน่งนั้นเราจะเรียกว่า Vertical line ซึ่งตำแหน่งนี้จะเห็นขอบทั้งฝั่งขวาและฝั่งซ้ายของภาพชัด เพราะตกอยู่ในตำแหน่งโฟกัสพอดี แต่ขอบด้านบนและด้านล่างจะเบลอ เพราะ ภาพจาก Vertical meridian โฟกัสอยู่ที่ตำแหน่ง 20 cm ไม่ใช่ 33.33 cm. จึงทำให้เกิดภาพเบลอของขอบด้านบนและด้านล่าง

+5.00 Diopter คือ Vertical meridian ตัวอย่างในภาพจะไปโฟกัสที่ระยะ 20 cm. จากตำแหน่งของเลนส์
ตำแหน่งนั้นเราจะเรียกว่า Horizontal line ซึ่งตำแหน่งนี้จะเห็นขอบทั้งด้านบนและด้านล่างชัด เพราะตกอยู่ในตำแหน่งโฟกัสพอดี  เช่นเดียวกันขอบของฝั่งซ้ายและฝั่งขวาจะเบลอ เพราะ ภาพจาก Horizontal meridian โฟกัสอยู่ที่ตำแหน่ง 33.33 cm ไม่ใช่ 20 cm. จึงทำให้เกิดภาพเบลอของขอบทั้งฝั่งซ้ายและขวา

 


ตำแหน่งช่องว่างระหว่าง Horizontal line กับ Vertical line เราจะเรียกว่า Interval of Sturm 
และจะมีตำแหน่งหนึ่งที่อยู่ระหว่าง Interval of Sturm ที่ Vertical meridian และ Horizontal meridian เห็นภาพชัดพอๆกัน หรือมีความมัวน้อยที่สุด เรียกตำแหน่งนี้ว่า circle of least confusion  ( circle of least confusion ไม่ใช่กึ่งกลางระหว่าง Vertical และ Horizontal meridain แต่เป็นตำแหน่งที่ ภาพโฟกัสในระหว่างสอง meridian นี้มีความคมชัดพอๆกัน )

 

ซึ่งสายตาเอียง มีด้วยกันทั้งหมด 5 ประเภท คือ
1. Compound Myopic Astigmatism 
2. Simple Myopic Astigmatism
3. Mixed Astigmatism
4. Compound Hyperopic Astigmatism 
5. Simple Hyperopic Astigmatism

เดี๋ยวขิงจะเขียนอธิบายแบบละเอียดในบทความถัดไป 

 

 

ตัวอย่าง Case Study ของสายตาเอียง ประเภท Compound Myopic Astigmatism 

 

จากการซักประวัติพบว่า

มีอาการมองไกลๆไม่ค่อยชัด เป็นมานานแล้ว บางครั้งเห็นเป็นภาพซ้อนข้างๆ   ต้องหรี่ตามองถึงจะชัดขึ้น
เวลาใช้คอมพิวเตอร์ต้องหรี่ตามองแล้วยื่นหน้าเข้าไปใกล้ๆ
ใส่แว่นครั้งแรกตอนอายุประมาณ 25 ปี ใส่มาหลายตัวแล้วแต่ใช้ได้แป๊บเดียวจะมึนหัว  ต้องถอดๆใส่ๆไม่ได้ใส่ตลอดเวลา

ใช้คอมพิวเตอร์วันละประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง ใช้แบบต่อเนื่องประมาณ 1 ชั่วโมง
ใช้โทรศัพท์มือถือวันละประมาณ 6 ชั่วโมง ใช้ต่อเนื่องประมาณ 1 ชั่วโมง

สุขภาพร่างกาย : เป็นโลหิตจาง ตอนนี้หมอให้กินธาตุเหล็กอยู่

VA ตาเปล่า ( ความสามารถในการมองเห็นด้วยตาเปล่า คนปกติอยู่ที่ 20/20 )
OD (ตาขวา) : 20/50+1
OS (ตาซ้าย) : 20/50-1
OU (สองตา) : 20/40


Cover test ( ตรวจดูความผิดปกติตาเขตาเหล่ซ่อนเร้น ) : Orthophoria
Associatphoria : 1 BI


Retinoscope   
OD : -0.50-2.00*90                      VA 20/25
OS : -0.50-1.50*90                       VA 20/25

Monocular Subjective
OD : -0.50-2.25*90                      VA 20/20-2
OS : -0.50-1.50*70                       VA 20/25+2

Best Visual Acuity
OD : -0.50-2.25*90                       VA 20/20-2 with Pinhole
OS : -0.75-1.50*70                       VA 20/20

BCC : +0.50
NRA : +1.50
PRA : -2.00

Confirm hand-held Refraction บน Trial frame 
OD : -0.50-2.50*95                       VA 20/20-2
OS : -0.75-2.00*85                       VA 20/20


จะเห็นว่ามีค่ากำลังและองศาสายตาเอียงที่เปลี่ยนไป เพราะเวลาเราหาองศาใน Phoropter จะอยู่ในตำแหน่งที่ตั้งฉากกับแสงที่เข้ามา  แต่เมื่อมาconfirm บน trial frame จะมีปัจจัยอื่นๆ เช่นมุมเทของหน้าแว่น มาเกี่ยวข้องด้วยทำให้ค่าองศาที่วัดได้มีการเปลี่ยนแปลงไป

 


วิเคราะห์ปัญหา
 

• ในระยะไกลคนไข้มีปัญหาสายตาสั้นและเอียงแบบ Compound Myopic Astigmatism ในตาข้างขวาและตาข้างซ้าย
ตาขวา : สายตาสั้น -0.50 Diopter สายตาเอียง -2.50 Diopter ที่องศา 95
ตาซ้าย : สายตาสั้น -0.75 Diopter สายตาเอียง -2.00 Diopter ที่องศา 85 

 

• เมื่อดูผลจากค่า BCC ในระยะใกล้คนไข้มีปัญหาการเพ่งของเลนส์ตา ต้องการ Addition +0.50 D ในการช่วยให้เห็นชัดที่ระยะ 40 ซม. ซึ่งเป็นที่ค่อนข้างน้อยกว่าปกติเมื่อเทียบกับอายุ ค่า  NRA ที่คนไข้เพ่งได้เอง +1.50 Diopter และสามารถเพ่งได้อีก -2.00 Diopter เมื่อดูจากค่า PRA

 

 

วิธีแก้ไขปัญหา

1. จ่ายแว่น full correct  เพื่อแก้ไขปัญหาสายตา และลดการกระตุ้น Accommodationหรือการเพ่งของคนไข้ เพื่อทำให้ระบบการเพ่งของเลนส์ตากลับมาทำงานได้ปกติมากขึ้น


ค่าสายตาที่จ่ายแว่น

OD : -0.50-2.50*95          
OS : -0.75-2.00*85


แก้ไขปัญหาโดย

Rodenstock Cosmolit Single Vision  index 1.60 
Coating Solitaire Protect Plus 2 X-tra Clean
กรอบแว่นตา : Eyecosplay Hand made IP 99.99% titanium

 

   

   


หลังจากที่ได้รับแว่นไปในอาทิตย์แรก คนไข้โทรมาสอบถามเรื่องภาพที่ยังดูไม่ค่อยปกติอยู่บ้างเนืองจากมีค่าสายตาเอียงที่ค่อนข้างเยอะทั้งสองข้าง  แต่คนไข้ก็ค่อยๆปรับตัวจนสามารถใส่ได้เป็นปกติ  คำพูดของพี่คนไข้ คงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ขิงไม่คิดเสียใจที่ได้ทำหน้าที่อยู่ในวิชาชีพทัศนมาตร  และจะไม่หยุดหาความรู้พัฒนาทักษะต่างๆ มาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อีกหลายๆคนที่ยังคงมีปัญหาสายตาแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข


ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านมาจนจบ
และหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับท่านที่สนใจหรือมีอาการที่คล้ายคลึงกับเคสนี้ให้ได้สังเกตุตัวเองและสามารถแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้ 

 


Content by : Worada  Saraburin , O.D.
Ref : Textbook GEOMETRICAL VISUAL OPTICS  
          A Clinical Introduction

 


ให้บริการทุกวันอังคาร - อาทิตย์ เวลา 09.30 - 18.00น. *หยุดทุกวันจันทร์

ท่านใดที่สนใจนัดหมายเข้ารับบริการ ติดต่อได้ที่เบอร์ 065-949-9550

ใช้เวลาในการตรวจ 1 - 2 ชั่วโมง
สำหรับคนที่สนใจทำแว่นทางร้านเราใช้เวลาในการส่งฝนและประกอบเลนส์เข้ากรอบประมาณ 10 - 14 วันนะคะ

 

 

ร้านตั้งอยู่ที่
อาคารหมายเลข  89/45 ม.3​ ต.บางกรูด​ อ.บ้านโพธิ์​ จ.ฉะเชิงเทรา​  

https://maps.app.goo.gl/VUB5EgTVntLPyGKZ9?g_st=ic

อยู่ติดกับถนนเส้น บางปะกง - ฉะเชิงเทรา
ฝั่งตรงข้าม เมกาโฮม ฉะเชิงเทรา
ใกล้กับร้าน ขนมเปี๊ยะ ซาลาเปา อึ๊งมุ่ยเส็ง สาขาบ้านโพธิ์

 

Facebook Page : Vorada Optometry